วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ทับทิม

ทับทิม

ชื่อทางวิทยาศาสตร์  Punica granatum Linn.
วงศ์  Punicaceae
ชื่อท้องถิ่น  ใช้เมล็ดปลูกหรือการตอนกิ่งก็ได้ แต่นิยมเพาะเมล็ดมากกว่า ปลูกได้ในดินทั่วไป แต่ชอบดินเหนียวปนหินและชอบอยู่ใกล้แหล่งน้ำ  ต้องการแสงแดดมากและเหมาะที่จะปลูกในต้นฤดูฝน วิธีการปลูกให้เพาะกล้าก่อน แล้วจึงย้ายเอาไปลงหลุม  เมื่อเป็นต้นอ่อนรดน้ำพรวนดินและบำรุงด้วยปุ๋ยอินทรีย์ เมื่ออายุได้ ๖ เดือน อย่าให้ร่มเงาไม้ใหญ่บัง เพราะต้นทับทิมอาจจะแคระแกร็นไม่ออกดอกออกผล ควรดูแลกำจัดศัตรูพืชด้วย
ส่วนที่ใช้เป็นยา  เปลือกผลแห้ง
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา  เก็บในช่วงที่ผลแก่ ใช้เปลือกผลตากแดดให้แห้ง
รสและสรรพคุณยาไทย  รสฝาด เป็นยาฝาดสมาน
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์  เปลือกผลมีรสฝาด เนื่องจากมีสาร แทนนิน ประมาณ ๒๒-๒๕% มีกรด gallotannic, สารสีเขียวอมเหลือง เป็นต้น เปลือกผลมีฤทธิ์ฝาดสมาน เพราะมีสาร แทนนิน และมีกรด Gallotannic จึงรักษาอาการท้องเดินได้ดี กองวิจัยแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิเคราะห์แล้วพบว่า ไม่มีพิษเฉียบพลัน แต่ถ้าให้ขนาดสูงอาจจะมีพิษได้ (LD 50= 17 กรัม/กิโลกรัม)
วิธีใช้  เปลือกทับทิมใช้เป็นยาแก้ท้องเดินและโรคบิด มีวิธีการใช้ดังต่อไปนี้ คือ อาการท้องเดิน ใช้เปลือกผลแห้งประมาณ ๑ ใน ๔ ของผล ฝนกับน้ำฝนหรือน้ำปูนใสข้น ๆ รับประทานครั้งละ ๑-๒ ช้อนแกง หรือต้มกับน้ำปูนใสแล้วดื่มน้ำที่ต้มก็ได้
          อาการบิด โรคนี้จะมีอาการปวดเบ่งและมีมูกออกมาด้วย หรืออาจจะมีเลือดออกมาปนกับมูก ให้ใช้เปลือกผลแห้งของทับทิมครั้งละ ๑ กำมือ (๓-๕ กรัม) ต้มกับน้ำดื่มวันละ ๒ ครั้ง อาจใช้กานพลูหรืออบเชยแต่งกลิ่นให้น่าดื่มก็ได้
คุณค่าทางด้านอาหาร ทับทิมใช้รับประทานเป็นผลไม้มีรสหวานหรือเปรี้ยวอมหวานมีวิตามิน ซี  รวมทั้งเกลือแร่อื่น ๆ อีก ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟันได้ดี

ดีปลี

ดีปลี

ชื่อวิทยาศาสตร์  Piper retrofracnon Vahl.
วงศ์  Piperaceae
ชื่อท้องถิ่น  ดีปลีเชือก (ภาคใต้) ประดงข้อ ปานนุ (ภาคกลาง)
ลักษณะของพืช  ดีปลีเป็นไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง ใบรูปไข่ โคนมน ปลายแหลม เป็นพืชใบเดี่ยว คล้ายใบย่านางแต่ผิวใบมันกว่า และบางกว่าเล็กน้อย ดอกเป็นรูปทรงกระบอกปลายมน เมื่อแก่จะมีผลเป็นสีแดง
การปลูก  นิยมปลูกโดยการใช้เถา ชอบดินร่วนและอุดมสมบูรณ์ ทนแล้งได้ดี ฤดูที่เหมาะสมในการปลูกก็คือฤดูฝน เวลาปลูกใช้เถาที่ชำจนรากงอกแล้วปลูก แล้วทำเสาให้เลื้อย ควรดูแลเรื่องน้ำและศัตรูพืชด้วย ดีปลีเป็นสมุนไพรที่ใช้มากในอุตสาหกรรม ยาแผนโบราณประมาณ ๕,๐๐๐-๗,๐๐๐ กิโลกรัม/ปี ปลูกได้ดีในภาคกลางของประเทศไทย นับว่าเป็นพืชสมุนไพรตัวหนึ่งที่อยู่ในแผนพัฒนาเพื่อส่งเป็นสินค้าออก
ส่วนที่ใช้เป็นยา  ผลแก่แห้ง
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา  ช่วงที่ผลแก่จัดแต่ยังไม่สุก ตากแดดให้แห้ง
รสและสรรพคุณยาไทย  รสเผ็ดร้อน ขม ขับลม บำรุงธาตุ แก้จุกเสียด
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์  ดีปลีแห้งประกอบด้วย อัลคาลอยด์ ชื่อว่า Piperine ประมาณ ๔-๖% chavicine, น้ำมันระเหยหอม ๑%
          ตามรายงานการศึกษาวิจัยพบว่า ดีปลีใช้ประกอบตำรับยาที่ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ท้องอืดเฟ้อ ธาตุไม่ปกติ ทั้งนี้เพราะดีปลีมีน้ำมันหอมระเหย
วิธีใช้  ผลแก่แห้งของดีปลี ใช้เป็นยารักษาอาการดังนี้
         อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และอาการปวดท้อง รวมทั้งแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียนที่เกิดจากธาตุไม่ปกติ โดยการใช้ผลแก่แห้ง ๑ กำมือ (ประมาณ ๑๐-๑๕ ดอก) ต้มเอาน้ำมาดื่ม ถ้าไม่มีดอกก็ใช้เถาต้มแทนได้
          อาการไอและขับเสมหะ ใช้ผลแก่แห้งประมาณครึ่งผลฝนกับน้ำมะนาวผสมเกลือกวาดในลำคอหรือจิบบ่อย ๆ
คุณค่าทางด้านอาหาร  ผลดีปลีแห้งใช้เป็นเครื่องเทศประกอบอาหารต่าง ๆ ได้

ขี้เหล็ก

ขี้เหล็ก

ชื่อวิทยาศาสตร์  Cassia siamea Britt.
วงศ์ Leguminosae
ชื่อท้องถิ่น  ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง) ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง) ขี้เหล็กกลวง (ภาคเหนือ) ผักจี้ลี้ (เงี้ยง-แม่ฮ่องสอน) ยะหา (ปัตตานี) ขี้เหล็กจิหรี่ (ภาคใต้)
ส่วนที่ใช้เป็นยา  ใบอ่อนและดอก
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา  ช่วงเวลาที่มีใบอ่อนและมีดอกออก
รสและสรรพคุณยาไทย  ดอกตูมและใบอ่อน รสขม ช่วยระบายท้อง ดอกตูมทำให้นอนหลับ เจริญอาหาร
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์  ใบอ่อนและดอกพบว่า มีสารจำพวก Chromone มีชื่อว่า Barakol ส่วนในใบพบสาร A, nthraquinones (เช่น Rhein, Sennoside, Chrysophanol, Aole-emodin), alkaloid และสารอื่นอีกหลายชนิด จากการศึกษาพบว่า ใบออกฤทธิ์เป็นยาระบาย เพราะมีสาร Anthraquinone และ พ.ศ. ๒๔๙๒ อุไร อรุณลักษณ์ และคณะ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของใบขี้เหล็กนี้มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางทำให้สัตว์ทดลองมีอาการซึม เคลื่อนไหวช้า ชอบซุกตัวแต่ไม่หลับ และศึกษาโดยใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการกระวนกระวาย นอนไม่หลับ พบว่าสารสกัดใบขี้เหล็กด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์สงบประสาทได้ดี ช่วยให้นอนหลับสบายและระงับอาการตื่นเต้นทางประสาทได้ แต่ไม่ใช่ยานอนหลับโดยตรง และไม่พบอาการเป็นพิษ มีความปลอดภัยในการใช้สูง
วิธีใช้  ขี้เหล็กใช้เป็นยารักษาอาการท้องผูกได้ดี และอาการนอนไม่หลับก็ได้ โดยการปฏิบัติดังต่อไปนี้
          อาการท้องผูก ใช้ใบขี้เหล็ก (ทั้งใบอ่อนและใบแก่) ๔-๕ กำมือ ต้มเอาน้ำดื่มก่อนอาหาร หรือเวลามีอาการ
         อาการนอนไม่หลับ กังวลเบื่ออาหาร ให้ใช้ใบแห้งหนัก ๓๐ กรัม หรือใช้ใบสดหนัก ๕๐ กรัม ต้มเอาน้ำรับประทานก่อนนอน หรือใช้ใบอ่อนเป็นยาดองเหล้า (ใส่เหล้าขาวพอท่วมยา แช่เอาไว้ ๗ วัน ต้องมีการคนทุกวัน ๆ ละครั้ง ให้สม่ำเสมอ กรองกากยาออกจะได้น้ำยาดองเหล้าขี้เหล็ก ใช้ดื่มครั้งละ ๑-๒ ช้อนชาก่อนนอน
คุณค่าทางด้านอาหาร  ดอกตูมและใบอ่อนของขี้เหล็กมีรสขม ต้องคั้นน้ำทิ้งหลาย ๆ ครั้งก่อน จึงเอามาปรุงอาหารได้ นิยมทำเป็นแกงกะทิ หรือทำเป็นผักจิ้ม จะช่วยระบายท้องได้ดี ทั้งดอกตูมและใบอ่อนมีสารอาหารหลายอย่าง คือ วิตามิน เอ และวิตามิน ซี ค่อนข้างสูง ในดอกมีมากกว่าในใบ เอาใบขี้เหล็กมาบ่มรวมกับผลไม้จะช่วยทำให้ผลไม้สุกเร็วขึ้นด้วย

คูน

คูน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula Linn.
วงศ์  Leguminosae
ชื่อท้องถิ่น  ลมแล้ง (ภาคเหนือ) ลักเกลือ ลักเคย (ปัตตานี) ชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ (ภาคกลาง) กุเพยะ (กระเหรี่ยง)
ลักษณะของพืช  คูนเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ใบรูปไข่ปลายแหลม ดอกเป็นช่อระย้าสีเหลืองและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ด้วย ฝักกลมยาว เวลาอ่อนฝักมีสีเขียวใบไม้ แก่จัดจะมีสีน้ำตาล
ส่วนที่ใช้เป็นยา  เนื้อในฝักแก่
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา  เก็บในช่วงฝักแก่  เปลือกเป็นสีน้ำตาลเข้ม
รสและสรรพคุณยาไทย  รสหวานเอียนเล็กน้อย สรรพคุณเป็นยาระบาย ไม่ปวดมวน ไม่ไช้ท้อง
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์  เนื้อในฝักคูนมีสารประเภท Anthraquinones หลายตัว เช่น Aloin, Rhein, Sennoside A, B และยังมี Organic acid สาร Anthraquinone ทำให้เนื้อฝักคูนมีฤทธิ์เป็นยาระบายได้ โดยมีฤทธิ์ไปกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ เหมาะสำหรับผู้ที่ท้องผูกเป็นประจำมาก ใช้เนื้อในฝักคูนแล้วไม่จำเป็นจะต้องไปรับประทานยาถ่าย ยาระบายอื่น ๆ ที่ต้องไปซื้อหามาเลย เป็นสมุนไพรที่ช่วยในเรื่องนี้ได้ดีมาก
วิธีใช้  เนื้อในฝักคูนแก้อาการท้องผูกได้อย่างวิเศษ โดยการนำเอาเนื้อในฝักคูนที่แก่แล้ว เอามาสักก้อนหนึ่งขนาดหัวแม่มือ หรือหนักประมาณ ๔ กรัม เอามาต้มกับน้ำ ใส่เกลือเข้าไปเล็กน้อย ดื่มก่อนหรือตอนเช้าก่อนอาหาร เป็นยาระบายอ่อนสำหรับผู้ที่ท้องผูกเป็นประจำดีมาก
         สำหรับสตรีที่มีครรภ์สามารพเอาสมุนไพรเป็นยานี้มาใช้ได้โดยไม่เกิดอันตรายเลย
         ปลูกต้นคูนเอาไว้ในบ้านสัก ๑ ต้น เมื่อมีบริเวณ สามารถใช้ประโยชน์จากต้นคูนได้มากมาย อีกทั้งดอกคูนยังสวยงามมาก เป็นสีเหลืองอร่ามทีเดียว เวลาถึงหน้าดอกคูนออกมา

ปลาไหลเผือก

ปลาไหลเผือก

ชื่อวิทยาศาสตร์  Eurycoma longifolia Jack.
วงศ์  Simaroubaceae
ชื่อท้องถิ่น  แฮพันชั้น ตุงสอ (ภาคเหนือ) คะนาง ชะนาง (ตราด) หยิกบ่อถอง เอียนด่อน (ภาคอีสาน) ตรึงบาดาล (ปัตตานี) กรุงบาดาล (สุราษฎร์ธานี) เพียก (ภาคใต้)
ลักษณะของพืช  ปลาไหลเผือกเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ใบเป็นใบประกอบ ใบย่อยแข็ง เรียวปลายแหลม ดอกเป็นช่อใหญ่ยาว สีเหลือง น้ำตาล ผลสีน้ำตาลรูปไข่
การปลูก  การขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ดหรือกิ่งตอนก็ได้ ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด โดยเฉพาะพื้นที่ ๆ อุดมสมบูรณ์ความชื้นสูง ไม่ชอบอากาศหนาวเย็น การปลูกควรปลูกในฤดูฝน วิธีปลูกและการดูแลรักษาเช่นเดียวกับต้นไม้ทั่วไปนั่นเอง
ส่วนที่ใช้เป็นยา รากแห้ง (รากกลมยาว เป็นเนื้อไม้ค่อนข้างแข็งมีสีขาว)
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา  ยังไม่มีข้อมูลที่แน่นอน
รสและสรรพคุณยาไทย  รสขมจัด เบื่อเมาเล็กน้อย รากใช้เป็นยาแก้ไข้ตัดอการไข้ทุกชนิดได้
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์  รากปลาไหลเผือกมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย และมีกรดอินทรีย์ ไม่มีรายงานด้านฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของรากปลาไหลเผือก แต่มีรายงานว่าออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อมาลาเรียในหลอดทดลองได้ ส่วนเรื่องพิษเฉียบพลัน กองวิจัยทางแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานว่าไม่มีพิษ
วิธีใช้  เอารากแห้งของต้นปลาไหลเผือกมาแก้ไข้ได้ โดยเอามาใช้ครั้งละ ๑ กำมือ (หนัก ๘-๑๕ กรัม) ต้มกับน้ำ ดื่มก่อนอาหาร วันละ ๒ ครั้ง เช้าและเย็น หรือเวลามีอาการเป็นไข้

สะแก

สะแก

ชื่อวิทยาศาสตร์  Combretum quadrangulare Kurz.
วงศ์  Combretaceae
ชื่อท้องถิ่น  สะแกนา (ภาคกลาง) แก (ภาคอีสาน) ขอยแข้ จองแข้ (แพร่) แพ่ง (ภาคเหนือ)
ลักษณะของพืช  สะแกเป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ใบรูปไข่หรือรูปรี ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบเรียวเข้าหากัน ดอกเป็นช่อขนาดเล็ก ผลเล็กมีปีกยื่นออกมา ๔ พูด้วยกัน
การปลูก  ปลูกโดยการใช้เมล็ด ชอบขึ้นในที่ดินเหนียว ชุ่มชื้น ควรปลูกในต้นฤดูฝน วิธีปลูกโดยการเพาะเมล็ดสะแกให้เป็นต้นกล้าก่อน แล้วจึงย้ายไปปลูกในที่ ๆ เตรียมเอาไว้ เรามักพบสะแกที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติเสมอ เช่น ในท้องนาหรือในที่รกร้างทั่วไป ชาวบ้านมักเอาต้นสะแกไปทำฟืนกันมาก เพราะแก่นของสะแกแข็งมากนั่นเอง
ส่วนที่ใช้เป็นยา  เมล็ดแก่
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา  เก็บในช่วงที่ผลแก่
รสและสรรพคุณยาไทย  ตามชนบทใช้เม็ดสะแกทอดกับไข่ให้เด็กรับประทาน ช่วยขับพยาธิไส้เดือนและพยาธิเส้นด้าย
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์  เมล็ดสะแกมีน้ำและสาร Flavonoid, Combretol, Bsitosterol. Pentacyclic triterpene carboxylic acid เป็นต้น มีรายงานการทดลองโดยใช้ส่วนสกัดด้วยสารละลายอีเทอร์ ออกฤทธิ์ฆ่าพยาธิในหลอดทดลองได้ กองวิจัยทางแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศึกษาเรื่องพิษเฉียบพลันพบว่า เมื่อให้เมล็ดสะแกทางปากในขนาด ๑.๕ กรัม/กิโลกรัม สัตว์ทดลองแสดงอาการพิษคือ ขาลาก ตาโปนแดง และตายเมื่อเพิ่มขนาดสูงขึ้นมาอีก
         ดังนั้น จึงควรระวังเรื่องขนาดของยาให้มาก
วิธีใช้  เมล็ดแก่ แห้ง ของสะแก ใช้ถ่ายพยาธิไส้เดือน โดยใช้เมล็ดแก่ ๑ ช้อนคาว (ประมาณ ๓ กรัม) ตำให้ละเอียด ทอดผสมกับไข่ให้ผู้ป่วยที่มีพยาธิไส้เดือนรับประทานในระหว่างที่ท้องกำลังว่าง
ข้อควรระวัง  ห้ามรับประทานเกินขนาดที่กำหนดเด็ดขาด อันตรายแน่นอน

ตะไคร้

ตะไคร้

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbopogon citrates (DC) Stapf.
วงศ์ Graminae
ชื่อท้องถิ่น  จะไคร (ภาคเหนือ) ไคร (ภาคใต้) คาหอม (เงี้ยว แม่ฮ่องสอน) ชิดเกรบ เหลอะเกรย (เขมร สุรินทร์) ห่อวอตะไป่ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) หัวสิงโต (เขมร ปราจีนบุรี)
ลักษณะของพืช  ตะไคร้เป็นพืชที่มีอายุหลายปี ลำต้นรวมกันเป็ฯกอ ใบยาวเรียว ปลายแหลมสีเขียวใบไม้ออกเทา มีกลิ่นหอม ออกดอกเป็นช่อยาว มีดอกเล็กฝอยเป็นจำนวนมาก ผลมีขนาดเล็ก ไม่ค่อยติดดอกและผล ตะไคร้ปลูกง่าย เจริญงอกงามในดินแทบทุกชนิด
การปลูก  ปลูกโดยเอาลำต้นเหง้าปักชำเอาไว้ โดยตัดใบออกให้เหลือตอนโคนยาวพอสมควร ปักเอียงลงดิน ตะไคร้ชอบดินร่วนซุย ไม่ชอบน้ำขังและปลูกได้ตลอดปี
ส่วนที่ใช้เป็นยา ลำต้นและเหง้าแก่ สดหรือแห้ง
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บเหง้าและลำต้นแก่
รสและสรรพคุณยาไทย รสปร่า กลิ่นหอม บำรุงธาตุ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ ขับลมในลำไส้ ทำให้เจริญอาหาร แก้กลิ่นคาว หรือดับกลิ่นคาวของปลา เนื้อสัตว์ได้ดีมาก
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ใบและลำต้นของตะไคร้ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย (Essential oil) มีปริมาณสูงมาก สาระสำคัญในน้ำมันก็คือ citral, Linalool, geraniol, methylheptenone เป็นต้น น้ำมันนี้เป็นยาขับลมแก้จุกเสียด และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ดี
วิธีใช้ ตะไคร้เป็นยารักษาอาการต่าง ๆ ได้ดังนี้
          อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุก เสียด ใช้ลำต้นแก่สด ๆ ทุบพอแหลกประมาณ ๑ กำมือ (ประมาณ ๔๐-๕๐ กรัม) ต้มเอาน้ำมาดื่ม หรือประกอบเป็นอาหาร
          อาการขัดเบา ผู้ที่เป็นปัสสาวะขัด ไม่คล่อง (แต่ต้องไม่มีอาการบวม) ใช้ต้นตะไคร้แก่สดวันละ ๑ กำมือ (สดหนัก ๔๐-๖๐ กรัม แห้งหนัก ๒๐-๓๐ กรัม) ต้มกับน้ำดื่มวันละ ๓ ครั้ง ๆ ละ ๑ ถ้วยชา (๗๕ มิลลิลิตร) ก่อนอาหาร หรือใช้เหง้าแก่ที่อยู่ใต้ดินฝานเป็นแว่นบาง ๆ คั่วไฟอ่อน ๆ พอเหลือง ชงเป็นยาดื่มวันละ ๓ ครั้ง ๆ ละ ๑ ถ้วยชา
         พอปัสสาวะคล่อง สะดวกแล้วก็หยุดดื่มได้

ขมิ้น

ขมิ้น

ชื่อวิทยาศาสตร์  Curcuma longa Linn.
วงศ์ Zingiberaceae
ชื่อท้องถิ่น ขมิ้น (ทั่วไป) ขมิ้นแกง ขมิ้นหยวก ขมิ้นหัว (เชียงใหม่) ขี้มิ้น หมิ้น (ภาคใต้) ตายอ (กะเหรี่ยง กำแพงเพชร) สะยอ (กะหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช  ขมิ้นเป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อในของเหง้าขมิ้นเป็นสีเหลืองเข้ม จนถึงสีแสดจัด มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใบรูปเรียว ยาว ปลายแหลม คล้ายกับใบพุทธรักษา ดอกออกเป็นช่อ มีก้านช่อแทงจากเหง้าโดยตรง ดอกสีขาวอมเหลือง มีกลีบประดับสีเขียวใบไม้ อมชมพู
การปลูก ขมิ้นชอบอากาศค่อนข้างร้อนและมีความชุ่มชื้นในเวลากลางคืน ชอบดินร่วนซุยที่ระบายน้ำได้ดี วิธีปลูกใช้เหง้าแก่ที่อายุได้ ๑๑-๑๒ เดือน ทำพันธุ์ ตัดออกเป็นท่อนให้มีตาท่อนละ ๑-๒ ตา ปลูกลงแปลงในหลุมลึกประมาณ ๕ นิ้วเศษ หลังจากปลูกได้ ๕-๗ วันขมิ้นก็เริ่มงอก ถ้าฝนไม่ตกก็จะต้องรดน้ำให้ชุ่มชื้นทุกวัน หลังจากที่ปลูก ๗ เดือน ขมิ้นก็เริ่มมีใบเป็นสีเหลืองแสดงว่าหัวขมิ้นเริ่มแก่แล้ว ปล่อยขมิ้นเอาไว้ในแปลงจนมีอายุ ๙-๑๐ เดือน จึงจะขุดเอมาใช้ได้
ส่วนที่ใช้เป็นยา  เหง้าสดและแห้ง
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา  เก็บในช่วงอายุ ๙-๑๐ เดือน
รสและสรรพคุณยาไทย รสฝาด กลิ่นหอม แก้โรคผิวหนัง ขับลม แก้ผื่นคัน แก้ท้องร่วง
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์  เหง้าขมิ้นจะมีสารประกอบที่สำคัญ เป็นน้ำมันหอมระเหย เอสเซนเชียล ประมาณร้อยละ ๒-๖ เป็นน้ำมันสีเหลือง มีสารหลายชนิด คือ Turmerone, Zingiberene, Borneol เป็นต้น และในเหง้ายังมีสารสีเหลืองส้มที่ทำให้ขมิ้นมีสีชื่อว่า Curcumin มีอยู่ประมาณร้อยละ ๑.๘-๕.๔
        จากการทดลองพบว่า ขมิ้นมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ลดอาการอักเสบ และมีฤทธิ์ในการขับน้ำดี น้ำมันหอมระเหยในขมิ้น ทำให้มีสรรพคุณในการรักษาอาการปวดเสียดท้อง ท้องอืด แน่นจุกเสียด การตรวจสอบพิษเฉียบพลันของขมิ้นในสัตว์ทดลองพบว่าไม่มีพิษ มีความปลอดภัยในการใช้ค่อนข้างสูง การศึกษาในทางคลินิกของขมิ้นที่น่าสนใจก็คือ การศึกษาสรรพคุณของขมิ้นรักษาโรคผิวหนังพุพองในผู้ป่วยเด็ก โดย สมพร อาจริยะกุล และคณะ โรงพยาบาลยาสูบ เป็นการใช้ขมิ้นในการรักษาโรคผิวหนังพุพอง (ลักษณะเป็นตุ่มและมีหนองพุพอง) มีผู้ป่วยเด็ก ๖๐ ราย แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม โดยกลุ่มเปรียบเทียบใช้ยาปฏิชีวนะ ผลการศึกษาพบว่า ภายใน ๓ อาทิตย์หลัง การรักษาผู้ป่วยจะหายทุกราย ไม่พบการแตกต่างระหว่างการรักษาผู้ป่วยทั้ง ๒ กลุ่ม และไม่พบผลแทรกซ้อนจากการใช้ขมิ้นรักษา นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยการใช้ขมิ้นรักษาโรคท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด ของโรงพยาบาลชุมชนบางแห่ง และรักษาโรคกระเพาะอาหาร โดย ฉวีวรรณ พฤกษ์นันท์ และคณะ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผลเบื้องต้นของการศึกษาเป็นที่น่าพอใจ จากข้อมูลดังกล่าวจึงทำให้ขมิ้นเป็นสมุนไพรตัวหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุข มีโครงการจะพัฒนาใช้เป็นยาต่อไป
วิธีใช้  เหง้าขมิ้นใช้เป็นยารักษาดังต่อไปนี้
         อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียดและอาหารไม่ย่อย โดยล้างขมิ้นให้สะอาด ไม่ต้องปอกเปลือกออก หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ตากแดดจัดสัก ๑-๒ วัน บดให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นเม็ดขนาดปลายนิ้วก้อย เก็บเอาไว้ในขวดที่สะอาด กินครั้งละ ๒-๓ เม็ด วันละ ๓-๔ ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน แต่บางคนกินขมิ้นแล้วเกิดอาการท้องเสียก็ให้หยุดกินยานี้
          ฝี แผลพุพอง และแก้อาการแพ้ อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย ภายนอก โดยเอาเหง้าขมิ้นยาวประมาณ ๒ นิ้ว  ฝนกับน้ำต้มสุกทางบริเวณที่เป็น วันละ ๓ ครั้ง หรือใช้ผงขมิ้นโรยทาบริเวณที่มีอาการผื่นคันจากแมลงสัตว์กัดต่อยก็ได้
คุณค่าทางด้านอาหาร  เหง้าขมิ้นมีสารอาหารอยู่พอสมควร แม้จะไม่มากก็ยังปรากฏว่ามี วิตามิน เอ วิตามิน ซี เพียงพอ นอกจากนั้นก็มีเกลือแร่ต่าง ๆ อีกพอสมควร เป็นเครื่องปรุงรส แต่งสีที่ดีมาก มีผู้นิยมเอาขมิ้นไปผสมในอาหารหลายอย่าง เช่น น้ำยาปักษ์ใต้ แกงเผ็ดเนื้อ แกงเหลือง แกงไก่ใส่ขมิ้น แกงไตปลา ปลาทอดขมิ้น เป็นต้น
          นอกจากจะได้รับประทานอาหารที่อร่อยแล้วยังได้พืชสมุนไพรอีกด้วย เป็นการช่วยแก้ท้องอืด เฟ้อ จุกเสียด แน่น อันเป็นระบบการย่อยให้เกิดความสมบูรณ์เป็นปกติได้



ขลู่

ขลู่

ชื่อวิทยาศาสตร์ Pluchea indica Less.
วงศ์  Compositae
ชื่อท้องถิ่น  หนวดงิ้ว หนาดงั่ว หนาดวัว (อุดรธานี) ขี้ป้าน (แม่ฮ่องสอน) คลู (ใต้)
ลักษณะของพืช  ขลู่เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ยอดและใบอ่อน มีขนอ่อนอยู่โดยทั่วไป ใบกลมมน ปลายใบหยัก ดอกออกเป็นช่อ ยังประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ สีขาวอมม่วง
การปลูก  ขลู่เป็นพืชที่ชอบขึ้นอยู่ตามลำธารน้ำทั่วไป โดยเฉพาะที่มีน้ำเค็มขึ้นถึง พบได้ทั่วไปในเขตร้อน เช่น ประเทศไทย อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ จีน เป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย โดยการใช้กิ่งแก่ปักชำ ขึ้นได้ในดินแทบจะทุกชนิด
ส่วนที่ใช้เป็นยา  ใช้ใบสดและแห้ง
รสและสรรพคุณยาไทย  ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการไม่ปกติ
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์  ขลู่มีสารประเภทเกลือแร่ เช่น โซเดียม คอลไรด์แต่ไม่พบรายงานการศึกษาทางเภสัชวิทยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศึกษาพบว่าไม่มีพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักร
วิธีใช้  ใช้เป็นยาแก้อาการขัดเบา วันละ ๑ กำมือ (ใช้ใบสดหนัก ๔๐-๕๐ กรัมแห้งหนัก ๑๕-๒๐ กรัม) หั่นเป็นชิ้น ต้มกับน้ำดื่ม วันละ ๓ ครั้ง ก่อนอาหาร ครั้งละ ๑ ถ้วยชา (หรือ ๗๕ มิลลิลิตร)
คุณค่าด้านอาหาร ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกได้ เนื่องจากอยู่ในบริเวณที่น้ำเค็มถึงจึงพบว่าในใบขลู่ก็มีเกลือแร่อยู่อีกด้วย

ถั่วพู

ถั่วพู

ชื่อวิทยาศาสตร์  Psophocarpus Letragonlobus (L.) DC.
วงศ์  Leguminosae
ชื่อท้องถิ่น  บอบ่ะปะหลี (แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช  พืชล้มลุกที่มีลำต้นเลื้อยได้ ใบออกจากลำต้นแบบสลับเป็นใบย่อย ๓ ใบ รูปร่างไข่ป้อม ปลายใบและขอบใบแหลม ดอกออกเป็นดอกย่อยสีขาวอมม่วง ฝักแบนยาวมี ๔ ปีก ตามความยาวของฝัก เมล็ดภายในกลม ผิวมัน
การปลูก  ใช้เมล็ดปลูก วิธีปลูกทำได้โดยยกแปลงแล้วผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก นำเมล็ดพันธุ์ลงปลูกในหลุม ๆ ละ ๒-๓ เมล็ด ห่างกันพอควร โตแล้วถอนแยกให้เหลือหลุมละ ๑-๒ ต้น ทำค้างให้ถั่วพูเลื้อย รดน้ำวันละ ๑-๒ ครั้งทุกวัน คอยดูแลกำจัดศัตรูพืชและวัชพืชเป็นประจำ ควรใส่ปุ๋ย ๑๕ วันต่อครั้ง
คุณค่าด้านอาหาร  ฝักถั่วพูเป็นผักที่กรอบ รสอร่อย ใช้รับประทานสด ๆ หรือลวกราดด้วยกะทิเคี่ยวก็ได้ ผัดกับน้ำมันก็ดี แกล้มกับน้ำพริกใส่ทอดมันปลา แกงเผ็ด แกงป่า หัวใต้ดินของถั่วพูเผาหรือเอามานึ่ง รับประทานช่วยบำรุงกำลัง สารอาหารในถั่วพูมีวิตามิน เอ วิตามิน ซี วิตามิน อี คาร์โบไฮเดรท โปรตีน ไขมัน ฟอสฟอรัส ครบถ้วน ฝักแก่ควรต้มให้สุกก่อนรับประทานจะดีกว่า เมล็ดแก่ต้มสุกรับประทานได้ดี

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มะม่วง

มะม่วง
สรรพคุณ :
ดอก รับประทานแก้ท้องร่วง เบาหวาน แก้บิดเรื้อรัง กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และโรคหนองใน 
ผลดิบ รสเปรี้ยว รับประทานแก้คลื่นไส้ อาเจียน แก้กระหายน้ำ นอกจากนั้นยังมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ 
เปลือกผลดิบ เป็นยาคุมธาตุ เปลือกผลดิบตากแห้งบดเป็นผงผสมนมและน้ำผึ้งรับประทนแก้บิดถ่ายเป็นเลือด และบำรุงอวัยวะที่เกี่ยวกับการย่อย 
เมล็ด หลังจากรับประทานผลสุกแล้ว เอาไปตากแห้งต้มดื่มแก้ท้องอืดแน่น ขับพยาธิ เมล็ดแกะเปลือกคั่วบดเป็นผงผสมกับนมเปรี้ยวรับประทานแก้ท้องเสียและบิดสำหรับสตรีมีครรภ์ 
ใบสด รสเปรี้ยว ต้มน้ำดื่มแก้ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ท้องอืดแน่น แก้ตานขโมยในเด็ก ใช้ภายนอกชะ-ล้างแผลใบบดให้แหลกใช้พอกแผลสด

มะนาว

มะนาว
สรรพคุณ :
น้ำมะนาว มีรสเปรี้ยว สรรพคุณแก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ บำรุงเสียง แก้โรคลักปิดลักเปิด ขับระดู แก้เล็บขบ ขับลม แก้ริดสีดวงทวาร ผสมดินสอพองใช้ทาหรือพอกรักษาอาการบวมฟกช้ำ ใช้พอกหน้าทำให้ผิวนุ่ม
เปลือก รสขม ช่วยขับลม ใช้รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด

มะขาม

 มะขาม

สรรพคุณ :
ใบแก่ รสเปรี้ยวฝาด ใช้ปรุงเป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะและขับเลือดในลำไส้ ฟอกโลหิต ใช้อบไอน้ำแก้หวัดคัดจมูกในเด็ก
เนื้อมะขาม  รสเปรี้ยว รับประทานแก้ร้อน ขับเสมหะ อุ่นกับน้ำผสมน้ำตาลทรายแล้วเคี่ยวให้ข้นรับประทานแก้อาการเบื่ออาหารในฤดูร้อน แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียนในหญิงมีครรภ์  แก้ตานขโมยในเด็ก แก้ท้องผูก ผสมกับปูนแดง ทารักษาฝี 
เมล็ด รสฝาดมัน นำมาคั่วให้เกรียม กะเทาะเปลือกออก แช่น้ำเกลือให้นุ่ม รับประทานแก้ท้องร่วงและอาเจียน ถ่ายพยาธิไส้เดือนในเด็ก 
เปลือกต้น รสฝาด มีสรรพคุณแก้ท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย แก้เจ็บปาก เจ็บคอ และสมานแผลเรื้อรัง

มะกรูด

มะกรูด

สรรพคุณ :
 ผิวผมสดและผลแห้ง ใช้สูดดมแก้เป็นลมหน้ามืด แก้ลมวิงเวียน
 ผล รสเปรี้ยว ใช้เป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว กัดเถาดานในท้อง แก้ระดูเสีย ฟอกโลหิต ขับผายลม แก้ปวดท้องในเด็ก ใช้สระผมจะทำให้ผมดกดำไม่มีรังแคและไม่คันศีรษะ 
น้ำมะกรูด รสเปรี้ยว มีสรรพคุณกัดเสมหะ ใช้ดองเป็นยาฟอกโลหิตสำหรับสตรี
ใบ รสปร่า หอม มีสรรพคุณแก้ไอ แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้ช้ำใน ดับกลิ่นคาว 
ราก รสจืดเย็น ใช้เป็นยาแก้พิษฝีภายใน  แก้เสมหะเป็นโทษ ปรุงร่วมกับยาอื่นแก้ลมจุกเสียด แก้ไขกำเดา ถอนพิษผิดสำแดง

มะเฟือง

มะเฟือง

สรรพคุณ :
ดอก ขับพยาธิ
ใบ, ผล  -  ทำยาต้ม ทำให้หยุดอาเจียน 
ผล- มี oxalic ทำให้เลือดจับเป็นก้อน ระบาย แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้บิด ขับน้ำลาย ขับปัสสาวะ  แก้นิ่ว ลดอาการอักเสบ
ใบและราก  เป็นยาเย็น เป็นยาดับพิษร้อน แก้ไข้ ถอนพิษไข้

บัวบก

บัวบก

สรรพคุณ :
ใบ - มีสาร Asiaticoside ทำยาทาแก้แผลโรคเรื้อน
ทั้งต้นสด - เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือมีการชอกช้ำจากการกระแทก แก้พิษงูกัด ปวดศีรษะข้างเดียว ขับปัสสาวะ แก้เจ็บคอ เป็นยาห้ามเลือด ใส่แผลสด แก้โรคผิวหนัง ลดความดัน แก้ช้ำใน
เมล็ด  แก้บิด แก้ไข้ ปวดศีรษะ



บัวบก

ชื่อวิทยาศาสตร์  Centelia asiatica (Linn.) Urban
วงศ์  Umbelliferae
ชื่อท้องถิ่น  ผักหนอก (ภาคเหนือ) ปะหนะเอขาเด๊าะ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช  บัวบกเป็นพืชสมุนไพรที่เลื้อยได้ตามพื้นดิน สูงประมาณ ๑ ฝ่ามือ มีรากงอกออกมาตามข้อของลำต้น ก้านใบลอกตรงจากดิน ใบสีเขียว ใบไม้ รูปกลมรีเล็กน้อย ขอบใบเป็นคลื่น ดอกสีม่วงแดงเข้ม ใช้ข้อที่มีรากงอกมาปลูกได้ดี
การปลูก  บัวบกเป็นพืชในเขตร้อน พบขึ้นอยู่โดยทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ดและไหล ตัดแยกไหลที่มีต้นอ่อนและมีรากงอกนำเอาไปปลูกในที่ชื้นแฉะ แต่จะต้องมีแสงแดดพอสมควร ไม่ช้าก็จะขยายพันธุ์แพร่ไปตามพื้นที่ นับว่าเป็นพืชที่ขึ้นง่าย ปลูกง่าย
ส่วนที่ใช้เป็นยา  ต้นสดและใบสด
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา  เก็บใบที่สมบูรณ์เต็มที่แล้ว
รสและสรรพคุณยาไทย กลิ่นหอม รสขมเล็กน้อย แก้อ่อนเพลียเมื่อยล้า แก้ร้อนใน แก้โรคความดันโลหิตสูง
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์  สารสกัดที่สกัดได้จากใบบัวบกมีหลาย คือ madecassic acid, Asiatic, acid, asiaticoside, madecassoside สารเหล่านี้มีฤทธิ์ในการสมานแผล ทำให้แผลหายเร็ว มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดหนอง ฆ่าเชื้อราและลดอาการอักเสบได้ดี
         ในประเทศฝรั่งเศสมีการพัฒนารูปแบบเป็นครีมและยาฉีด ใช้รักษษแผลสดหรือแผลหลังการผ่าตัด ส่วนในประเทศไทย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังมีการวิจัยค้นคว้าด้านเภสัชวิทยาและพัฒนารูปแบบโดยความร่วมมือของโรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลศิริราช พบว่าการใช้ครีมบัวบกร้อยละ ๑ ใช้กับผู้ป่วยรวม ๒๒ คน ที่เป็นแผลเรื้อรังจากแผลกดทับ แผลที่เกิดจากอุบัติเหตุและแผลติดเชื้อ โดยใช้วันละ ๑ ครั้ง ทำให้แผลหายได้เร็วขึ้นและทำให้การอักเสบลดลง มีการปรับปรุงต่อไปอีกเรื่อย ๆ
วิธีใช้  ใบบักบกเอามาใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกได้ดี โดยเอาบัวบกทั้งต้นสดทั้งใบสด ๑ กำมือ ล้างให้สะอาดแล้วโขลกละเอียด โดยเอาบัวบกทั้งต้นสดทั้งใบสด ๑ กำมือ ล้างให้สะอาดแล้วโขลกละเอียด คั้นเอาน้ำและทาบริเวณที่เป็นแผลบ่อย ๆ จะใช้กากพอกด้วยก็ได้

คำฝอย

คำฝอย

สรรพคุณ : 
ดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล รสหวาน บำรุงโลหิตระดู แก้น้ำเหลืองเสีย แก้แสบร้อนตามผิวหนัง บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ขับระดู แก้ดีพิการ โรคผิวหนัง ฟอกโลหิต ลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันไขมันอุดตัน
เกสร  บำรุงโลหิต ประจำเดือนของสตรี
เมล็ด เป็นยาขับเสมหะ แก้โรคผิวหนัง ทาแก้บวม ขับโลหิตประจำเดือน ตำพอกหัวเหน่า แก้ปวดมดลูกหลังจากการคลอดบุตร น้ำมันจากเมล็ด ทาแก้อัมพาต และขัดตามข้อต่างๆ
ดอกแก่ ใช้แต่งสีอาหารที่ต้องการให้เป็นสีเหลือง



คำฝอย

ชื่อวิทยาศาสตร์  Carthamus tinctorius Linn.
วงศ์  Compositae
ชื่อท้องถิ่น  คำ ดอกคำ (ภาคเหนือ) คำยอง (ลำปาง)
ลักษณะของพืช   คำฝอยเป็นพืชล้มลุก สูงประมาณ ๑ เมตร ลำต้นเป็นเหลี่ยม ก้านใบสั้น ใบรูปร่างรียาว ริมใบหยักแหลม เนื้อใบเรียบ ดอกออกรวมกันเป็นช่อ อัดแน่นบนฐานดอก รูปร่างกลมเหมือนดอกดาวเรือง ดอกย่อยสีเหลืองค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีส้ม พอดอกแก่จะเป็นสีส้มแดง
การปลูก  เป็นพืชที่ปลูกได้ทางภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งมีการปลูกกันที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ปลูกโดยการใช้เมล็ด ในฤดูฝนหรือต้นฤดูหนาวก็ได้ วิธีปลูกให้ไถพรวนดินก่อน แล้วขุดหลุมปลูกหลุมละ ๓ เมล็ด พองอกดีแล้วให้ถอนต้นที่ไม่แข็งแรงออกไป ให้เหลือหลุมละ ๑-๒ ต้นก็พอ คอยดูแลอย่าให้มีน้ำขัง กำจัดวัชพืชให้ดีรวมทั้งศัตรูพืชอีกด้วย
คุณค่าทางด้านอาหาร  คำฝอยปลูกกันในประเทศไทยยังไม่มากนัก ปรากฏว่าในเมล็ดดอกคำฝอยมีน้ำมันมาก จากการค้นคว้าสารในดอกคำฝอย พบว่าแก้อาการอักเสบได้ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อบางตัวได้ ในประเทศจีนดอกคำฝอยใช้เป็นยาเกี่ยวกับสตรีที่แพร่หลายมาก ตำรับยาที่รักษาประจำเดือนคั่งค้างไม่ปกติ หรืออาการปวดบวมฟกช้ำดำเขียวมักจะใช้ดอกคำฝอยด้วยเสมอ โดยต้มน้ำ แช่เหล้า หรือใช้วิธีตำแล้วพอกเอาไว้ แต่ก็มีข้อควรระวัง คือ สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน
          ชาดอกคำฝอย ช่วยส่งเสริมสุขภาพ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือดได้โดยใช้ดอกคำฝอยแห้ง 2 หยิบมือ (๒.๕) ชงกับน้ำร้อนครึ่งแก้ว ดื่มเป็นเครื่องดื่มได้ดีมาก

กล้วยน้ำหว้า

กล้วยน้ำหว้า

สรรพคุณ :
ผลสุก มีเบต้าแคโรทีน ไนอาซีน ใยอาหาร และเพคติน จึงมีสรรพคุณในการหล่อลื่น ช่วยให้ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น ช่วยระบายท้อง และใช้เป็นยาระบายได้เป็นอย่างดี
ผลดิบ มีสารแทนนิน และเพคติน ซึ่งมีฤทธิ์ฝาด สามารถรักษาอาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงได้ โดยรับประทานครั้งละครึ่งผล /๑ ผล อาการท้องเสียจะทุเลาลงในผลกล้วยน้ำว้าสุกและห่าม รักษาโรคเลือดออกตามไรฟันในเด็กเล็กได้ ช่วยลดอาการเจ็บคอ เจ็บหน้าอกที่มีอาการไอแห้งร่วมด้วย โดยรับประทานกล้วยน้ำว้าวันละ ๔-๖
ลูก แบ่งรับประทานกี่ครั้งก็ได้ และหากรับประทานกล้วยก่อนแปรงฟันทุกวันจะทำให้ไม่มีกลิ่นปาก และผิวพรรณดี (เห็นผลได้ใน ๑ สัปดาห์) ช่วยบำรุงกระดูก ฟัน และเหงือกให้แข็งแรง และยังช่วยให้ผิวพรรณดีอีกด้วย
ราก มีสรรพคุณในการขับน้ำเหลืองเสีย แก้ท้องเสีย น้ำคั้นจากต้น มีสรรพคุณใช้ทากันผมร่วง และทำให้ผมขึ้น
น้ำจากก้านใบ มีสรรพคุณใช้เป็นยาฝาดสมาน รักษาโรคท้องเสีย แก้บิด
ช่อดอก มีสรรพคุณใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวาน
แป้ง แป้งที่ทำจากกล้วยดิบมีสรรพคุณใช้รักษาอาการแก่ผู้ที่อาหารไม่ย่อย ท้องขึ้น มีกรดมาก
หยวกกล้วย มีสรรพคุณใช้เป็นอาหารที่ใช้ล้างในระบบทางเดินอาหาร

กระเจี๊ยบแดง

กระเจี๊ยบแดง

สรรพคุณ : กลีบเลี้ยงของดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล
1. เป็นยาลดไขมันในเส้นเลือด และช่วยลดน้ำหนักด้วย
2. ลดความดันโลหิตได้โดยไม่มีผลร้ายแรงแต่อย่างใด
3. น้ำกระเจี๊ยบทำให้ความเหนียวข้นของเลือดลดลง
4. ช่วยรักษาโรคเส้นโลหิตแข็งแรงได้ดี
5. น้ำกระเจี๊ยบยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เป็นการช่วยลดความดันอีกทางหนึ่ง
6. ช่วยย่อยอาหาร เพราะไม่เพิ่มการหลั่งของกรดในกระเพาะ
7. เพิ่มการหลั่งน้ำดีจากตับ
8. เป็นเครื่องดื่มที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่น เพราะมีกรดซีตริคอยู่
ใบ - มีรสเปรี้ยว แก้โรคพยาธิตัวจี๊ด ยากัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำคอให้ลงสู่ทวารหนัก
ดอกแก้โรคนิ่วในไต แก้โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะขัดเบา ละลายไขมันในเส้นเลือด กัดเสมหะ ขับเมือกในลำไส้ให้ลงสู่ทวารหนัก
ผล - ลดไขมันในเลือด แก้กระหายน้ำ รักษาแผลในกระเพาะ
เมล็ดรสเมา บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ดีพิการ ขับปัสสาวะ ลดไขมันในเส้นเลือด นอกจากนี้ ได้บ่งสรรพคุณโดยไม่ได้ระบุว่าใช้ส่วนใด ดังนี้คือ แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ แก้ปัสสาวะพิการ แก้คอแห้งกระหายน้ำ แก้ความดันโลหิตสูง กัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในสำไส้ ลดไขมันในเลือด บำรุงโลหิต ลดอุณหภูมิในร่างกาย แก้โรคเบาหวาน แก้เส้นเลือดตีบตัน นอกจากใช้เดี่ยวๆ แล้วยังใช้ผสมในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นใช้ถ่ายพยาธิตัวจี๊ด

เสลดพังพอนตัวผู้ (ซองระอา)

เสลดพังพอนตัวผู้ (ซองระอา)

สรรพคุณ : 
ราก  -  แก้ตาเหลือง หน้าเหลือง เมื่อยตัว กินข้าวไม่ได้ แก้เจ็บท้อง แก้ผิดอาหาร ถอนพิษงู พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้ปวดฟัน  
ใบ - ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้ลมพิษ รักษาเม็ดผื่นคันตามผิวหนัง แก้โรคเบาหวาน แก้ปวดแผล แผลจากของมีคมบาด แก้โรคฝีต่างๆ รักษาโรคคางทูม แก้โรคไฟลามทุ่ง แก้ขยุ้มตีนหมา แก้โรคงูสวัด รักษาโรคเริม ถอนพิษจากเม็ดตุ่มฝีดาษ รักษาโรคฝีดาษ แก้ฟกช้ำ แก้ช้ำบวมเนื่องจากถูกของแข็ง ถอนพิษไข้ พิษไข้ทรพิษ แก้ปวดฟัน เหงือกบวม แก้ริดสีดวงทวาร แก้ยุงกัด แก้พิษไฟลวกน้ำร้อนลวก แก้ปวดจากปลาดุกแทง
ส่วนทั้ง 5 - ใช้เหมือนเสลดพังพอนตัวเมีย และใช้แทนเสลดพังพอนตัวเมียได้ แต่ใบเสลดพังพอนตัวเมียมีรสจืด ใบเสลดพังพอนตัวผู้มีรสขมมาก และเสลดพังพอนตัวผู้มีฤทธิ์อ่อนกว่าเสลดพังพอนตัวเมีย

เสลดพังพอนตัวเมีย (พญาปล้องทอง)

เสลดพังพอนตัวเมีย (พญาปล้องทอง)

สรรพคุณ :
 ส่วนทั้ง 5    ใช้ถอนพิษ โดยเฉพาะพิษแมลงสัตว์กัดต่อย ตะขาบ แมลงป่อง รักษาอาการอักเสบ งูสวัด ลมพิษ แผลน้ำร้อนลวก
ใบ  นำมาสกัดทำทิงเจอร์และกรีเซอรีน ใช้รักษาแผลผิวหนังชนิดเริ่ม Herpes และรักษาแผลร้อนในในปาก Apthous ตับพิษร้อน แก้แผลน้ำร้อนลวก
ราก   ปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ ขับประจำเดือน แก้ปวดเมื่อยบั้นเอว 

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พญายอ

พญายอ
ชื่อวิทยาศาสตร์  Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau.
วงศ์ Acanthaceae
ชื่อท้องถิ่น ผักมันไก่ ผักลิ้นเขียด (เชียงใหม่) พญาปล้องดำ (ลำปาง) เสลดพังพอนตัวเมีย พญาปล้องทอง (ภาคกลาง) ลิ้นมังกร โพะโซ่จาง (กะเหรี่ยง)
ลักษณะของพืช พญายอเป็นพืชไม้พุ่มแกมเลื้อย เถาและใบมีสีเขียวใบไม้ ไม่มีหนาม ใบยาวเรียว ปลายแหลม ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ดอกออกเป็นช่ออยู่ที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมี ๓-๖ ดอก กลีบดอกเป็นดอก ปลายแยก สีแดงอมส้ม
การปลูก ปลูกโดยใช้ลำต้นปักชำ เป็นต้นไม้ที่ปลูกง่าย ตัดกิ่งออกมาสัก ๒-๓ คืบ ปักชำให้ออกรากดีแล้วก็ย้ายลงปลูกในแปลง ดูแลรักษาเช่นเดียวกับพืชทั่วไป
ส่วนที่ใช้เป็นยา  ใบ
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา  เก็บใบขนาดกลางที่สมบูรณ์ ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป
รสและสรรพคุณยาไทย รสจืด
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จากการรายงานในขั้นต้นพบว่า ใบของพญายอสามารถลดอาการอักเสบของหนูได้ดี โดยเฉพาะส่วนที่สกัดด้วยสารละลาย บิวทานอล วงศ์สถิต ฉั่วกุล และคณะ ได้ศึกษาพบว่าสาระสำคัญตัวหนึ่งเป็น เฟลโวนนอยด์ ส่วนฤทธิ์ในการต้านพิษงูไม่ชัดเจน และปลอดภัยพอที่จะใช้ได้ ขณะนี้กำลังศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ซึ่งอาจจะพบทราบผลดีแล้วในปัจจุบัน
วิธีใช้  ใบพญาพอนี้ รักษาอาการอักเสบเฉพาะที่ (ปวด บวม แดง ร้อน แต่ไม่มีไข้) จากแมลงมีพิษกัดต่อย เช่น ตะขาบ แมงป่อง ผึ้งต่อย ต่อ แตน ต่อย โดยการเอาใบสดของพญายอนี้มาสัก ๑๐-๑๕ ใบ (มากน้อยตามบริเวณที่เป็น) จัดการล้างให้สะอาด ใส่ลงในครกตำยา ตำให้ละเอียด เติมเหล้าขาวพอชุ่มยา ใช้น้ำและกากทาพอกบริเวณที่เจ็บบวม หรือที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อยเอา ไม่มียาอย่างอื่นโปรดลองใช้สมุนไพรตัวนี้ก็ได้ผลดีทีเดียว