วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ขมิ้น

ขมิ้น

ชื่อวิทยาศาสตร์  Curcuma longa Linn.
วงศ์ Zingiberaceae
ชื่อท้องถิ่น ขมิ้น (ทั่วไป) ขมิ้นแกง ขมิ้นหยวก ขมิ้นหัว (เชียงใหม่) ขี้มิ้น หมิ้น (ภาคใต้) ตายอ (กะเหรี่ยง กำแพงเพชร) สะยอ (กะหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช  ขมิ้นเป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อในของเหง้าขมิ้นเป็นสีเหลืองเข้ม จนถึงสีแสดจัด มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใบรูปเรียว ยาว ปลายแหลม คล้ายกับใบพุทธรักษา ดอกออกเป็นช่อ มีก้านช่อแทงจากเหง้าโดยตรง ดอกสีขาวอมเหลือง มีกลีบประดับสีเขียวใบไม้ อมชมพู
การปลูก ขมิ้นชอบอากาศค่อนข้างร้อนและมีความชุ่มชื้นในเวลากลางคืน ชอบดินร่วนซุยที่ระบายน้ำได้ดี วิธีปลูกใช้เหง้าแก่ที่อายุได้ ๑๑-๑๒ เดือน ทำพันธุ์ ตัดออกเป็นท่อนให้มีตาท่อนละ ๑-๒ ตา ปลูกลงแปลงในหลุมลึกประมาณ ๕ นิ้วเศษ หลังจากปลูกได้ ๕-๗ วันขมิ้นก็เริ่มงอก ถ้าฝนไม่ตกก็จะต้องรดน้ำให้ชุ่มชื้นทุกวัน หลังจากที่ปลูก ๗ เดือน ขมิ้นก็เริ่มมีใบเป็นสีเหลืองแสดงว่าหัวขมิ้นเริ่มแก่แล้ว ปล่อยขมิ้นเอาไว้ในแปลงจนมีอายุ ๙-๑๐ เดือน จึงจะขุดเอมาใช้ได้
ส่วนที่ใช้เป็นยา  เหง้าสดและแห้ง
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา  เก็บในช่วงอายุ ๙-๑๐ เดือน
รสและสรรพคุณยาไทย รสฝาด กลิ่นหอม แก้โรคผิวหนัง ขับลม แก้ผื่นคัน แก้ท้องร่วง
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์  เหง้าขมิ้นจะมีสารประกอบที่สำคัญ เป็นน้ำมันหอมระเหย เอสเซนเชียล ประมาณร้อยละ ๒-๖ เป็นน้ำมันสีเหลือง มีสารหลายชนิด คือ Turmerone, Zingiberene, Borneol เป็นต้น และในเหง้ายังมีสารสีเหลืองส้มที่ทำให้ขมิ้นมีสีชื่อว่า Curcumin มีอยู่ประมาณร้อยละ ๑.๘-๕.๔
        จากการทดลองพบว่า ขมิ้นมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ลดอาการอักเสบ และมีฤทธิ์ในการขับน้ำดี น้ำมันหอมระเหยในขมิ้น ทำให้มีสรรพคุณในการรักษาอาการปวดเสียดท้อง ท้องอืด แน่นจุกเสียด การตรวจสอบพิษเฉียบพลันของขมิ้นในสัตว์ทดลองพบว่าไม่มีพิษ มีความปลอดภัยในการใช้ค่อนข้างสูง การศึกษาในทางคลินิกของขมิ้นที่น่าสนใจก็คือ การศึกษาสรรพคุณของขมิ้นรักษาโรคผิวหนังพุพองในผู้ป่วยเด็ก โดย สมพร อาจริยะกุล และคณะ โรงพยาบาลยาสูบ เป็นการใช้ขมิ้นในการรักษาโรคผิวหนังพุพอง (ลักษณะเป็นตุ่มและมีหนองพุพอง) มีผู้ป่วยเด็ก ๖๐ ราย แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม โดยกลุ่มเปรียบเทียบใช้ยาปฏิชีวนะ ผลการศึกษาพบว่า ภายใน ๓ อาทิตย์หลัง การรักษาผู้ป่วยจะหายทุกราย ไม่พบการแตกต่างระหว่างการรักษาผู้ป่วยทั้ง ๒ กลุ่ม และไม่พบผลแทรกซ้อนจากการใช้ขมิ้นรักษา นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยการใช้ขมิ้นรักษาโรคท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด ของโรงพยาบาลชุมชนบางแห่ง และรักษาโรคกระเพาะอาหาร โดย ฉวีวรรณ พฤกษ์นันท์ และคณะ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผลเบื้องต้นของการศึกษาเป็นที่น่าพอใจ จากข้อมูลดังกล่าวจึงทำให้ขมิ้นเป็นสมุนไพรตัวหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุข มีโครงการจะพัฒนาใช้เป็นยาต่อไป
วิธีใช้  เหง้าขมิ้นใช้เป็นยารักษาดังต่อไปนี้
         อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียดและอาหารไม่ย่อย โดยล้างขมิ้นให้สะอาด ไม่ต้องปอกเปลือกออก หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ตากแดดจัดสัก ๑-๒ วัน บดให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นเม็ดขนาดปลายนิ้วก้อย เก็บเอาไว้ในขวดที่สะอาด กินครั้งละ ๒-๓ เม็ด วันละ ๓-๔ ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน แต่บางคนกินขมิ้นแล้วเกิดอาการท้องเสียก็ให้หยุดกินยานี้
          ฝี แผลพุพอง และแก้อาการแพ้ อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย ภายนอก โดยเอาเหง้าขมิ้นยาวประมาณ ๒ นิ้ว  ฝนกับน้ำต้มสุกทางบริเวณที่เป็น วันละ ๓ ครั้ง หรือใช้ผงขมิ้นโรยทาบริเวณที่มีอาการผื่นคันจากแมลงสัตว์กัดต่อยก็ได้
คุณค่าทางด้านอาหาร  เหง้าขมิ้นมีสารอาหารอยู่พอสมควร แม้จะไม่มากก็ยังปรากฏว่ามี วิตามิน เอ วิตามิน ซี เพียงพอ นอกจากนั้นก็มีเกลือแร่ต่าง ๆ อีกพอสมควร เป็นเครื่องปรุงรส แต่งสีที่ดีมาก มีผู้นิยมเอาขมิ้นไปผสมในอาหารหลายอย่าง เช่น น้ำยาปักษ์ใต้ แกงเผ็ดเนื้อ แกงเหลือง แกงไก่ใส่ขมิ้น แกงไตปลา ปลาทอดขมิ้น เป็นต้น
          นอกจากจะได้รับประทานอาหารที่อร่อยแล้วยังได้พืชสมุนไพรอีกด้วย เป็นการช่วยแก้ท้องอืด เฟ้อ จุกเสียด แน่น อันเป็นระบบการย่อยให้เกิดความสมบูรณ์เป็นปกติได้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น