ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia siamea Britt.
วงศ์ Leguminosae
ชื่อท้องถิ่น ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง) ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง) ขี้เหล็กกลวง (ภาคเหนือ) ผักจี้ลี้ (เงี้ยง-แม่ฮ่องสอน) ยะหา (ปัตตานี) ขี้เหล็กจิหรี่ (ภาคใต้)
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบอ่อนและดอก
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา ช่วงเวลาที่มีใบอ่อนและมีดอกออก
รสและสรรพคุณยาไทย ดอกตูมและใบอ่อน รสขม ช่วยระบายท้อง ดอกตูมทำให้นอนหลับ เจริญอาหาร
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ใบอ่อนและดอกพบว่า มีสารจำพวก Chromone มีชื่อว่า Barakol ส่วนในใบพบสาร A, nthraquinones (เช่น Rhein, Sennoside, Chrysophanol, Aole-emodin), alkaloid และสารอื่นอีกหลายชนิด จากการศึกษาพบว่า ใบออกฤทธิ์เป็นยาระบาย เพราะมีสาร Anthraquinone และ พ.ศ. ๒๔๙๒ อุไร อรุณลักษณ์ และคณะ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของใบขี้เหล็กนี้มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางทำให้สัตว์ทดลองมีอาการซึม เคลื่อนไหวช้า ชอบซุกตัวแต่ไม่หลับ และศึกษาโดยใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการกระวนกระวาย นอนไม่หลับ พบว่าสารสกัดใบขี้เหล็กด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์สงบประสาทได้ดี ช่วยให้นอนหลับสบายและระงับอาการตื่นเต้นทางประสาทได้ แต่ไม่ใช่ยานอนหลับโดยตรง และไม่พบอาการเป็นพิษ มีความปลอดภัยในการใช้สูง
วิธีใช้ ขี้เหล็กใช้เป็นยารักษาอาการท้องผูกได้ดี และอาการนอนไม่หลับก็ได้ โดยการปฏิบัติดังต่อไปนี้
อาการท้องผูก ใช้ใบขี้เหล็ก (ทั้งใบอ่อนและใบแก่) ๔-๕ กำมือ ต้มเอาน้ำดื่มก่อนอาหาร หรือเวลามีอาการ
อาการนอนไม่หลับ กังวลเบื่ออาหาร ให้ใช้ใบแห้งหนัก ๓๐ กรัม หรือใช้ใบสดหนัก ๕๐ กรัม ต้มเอาน้ำรับประทานก่อนนอน หรือใช้ใบอ่อนเป็นยาดองเหล้า (ใส่เหล้าขาวพอท่วมยา แช่เอาไว้ ๗ วัน ต้องมีการคนทุกวัน ๆ ละครั้ง ให้สม่ำเสมอ กรองกากยาออกจะได้น้ำยาดองเหล้าขี้เหล็ก ใช้ดื่มครั้งละ ๑-๒ ช้อนชาก่อนนอน
คุณค่าทางด้านอาหาร ดอกตูมและใบอ่อนของขี้เหล็กมีรสขม ต้องคั้นน้ำทิ้งหลาย ๆ ครั้งก่อน จึงเอามาปรุงอาหารได้ นิยมทำเป็นแกงกะทิ หรือทำเป็นผักจิ้ม จะช่วยระบายท้องได้ดี ทั้งดอกตูมและใบอ่อนมีสารอาหารหลายอย่าง คือ วิตามิน เอ และวิตามิน ซี ค่อนข้างสูง ในดอกมีมากกว่าในใบ เอาใบขี้เหล็กมาบ่มรวมกับผลไม้จะช่วยทำให้ผลไม้สุกเร็วขึ้นด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น