วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บทความวิจัย "มะรุม พืชที่ทุกคนอยากรู้" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

มะรุม พืชที่ทุกคนอยากรู้

มะรุม, แคปซูลมะรุม, พิษมะรุม, capsule มะรุม, รักษามะเร็ง

คำเตือน : ผู้ป่วยที่ใช้มะรุมติดต่อเป็นเวลานานๆ ควรตรวจการทำงานของตับ เพราะพบว่าผู้ป่วยบางรายที่ใช้มะรุมติดต่อกันเป็นเวลานาน แล้วพบว่าเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้น
ระยะนี้มีข่าวในหน้า หนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการใช้มะรุมรักษาโรคต่างๆ และพบกระทู้ข่าวในInternet มากมาย รวมทั้งมีโทรศัพท์เข้ามาถามที่สำนักงานข้อมูลสมุนไพรอยู่บ่อยครั้ง ทางสำนักงานฯ จึงรวบรวมข้อมูลการวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และเป็นแนวทางที่จะช่วยในการตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์มะรุมต่างๆ เพื่อดูแลสุขภาพ ป้องกันหรือรักษาโรค ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบพืชสด แห้ง เป็นแคปซูล หรือเป็นสารสกัด

ในตำรา ยาพื้นบ้านใช้ใบมะรุมพอกแผลช่วยห้ามเลือด ทำให้นอนหลับ เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ และช่วยแก้ไข้ ใช้ส่วนดอกและผลเป็นยาบำรุง ขับปัสสาวะ และแก้ไข้ ใช้ส่วนเมล็ดบดพอกแก้ปวดตามข้อ และแก้ไข้

ใน ภาพรวมของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการวิจัยในระดับเซลล์และสัตว์ทดลองพบว่า มะรุมมีฤทธิ์ ที่น่าสนใจมากมาย เช่น ฤทธิ์ลดความดันโลหิต ต้านการเกิดเนื้องอก ต้านมะเร็ง ลดระดับคอเลสเตอรอล ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันตับอักเสบ ต้านออกซิเดชัน ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดระดับน้ำตาล และฤทธิ์ต้านการอักเสบ

มีการ ศึกษาในคนเพียงชิ้นเดียว โดยมีเพียงรายงานเกี่ยวกับการใช้ยาSeptillin ® ซึ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากพืช 6 ชนิด ได้แก่ มะรุม บอระเพ็ด จิตรลดา มะขามป้อม ชะเอมเทศ Balsamodendron mukul (พืชอินเดีย) และเปลือกหอยสังข์ โดยพบว่า Septillin ® ให้ผลดีทางคลินิกในเด็กซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับการติดเชื้อในระบบทาง เดินหายใจส่วนบน และการติดเชื้อที่ผิวหนัง

สำหรับงานวิจัยที่น่าสนใจ ในสัตว์ทดลองมีโดยย่อดังนี้
ฤทธิ์ลดความดัน โลหิต
สารสกัด น้ำและเอทานอลของใบมะรุม สารสกัดเอทานอลของผลและฝัก สารในกลุ่ม glycosides ใน สารสกัดเมทานอลของฝักแห้งและเมล็ด แสดงฤทธิ์ลดความดันโลหิตในสุนัขและหนูแรท
ฤทธิ์ต้านการเกิด เนื้องอกและฤทธิ์ต้านมะเร็ง
สาร สำคัญในกลุ่ม thiocarbamate จากใบ สารสกัดเอทานอลของเมล็ด แสดงฤทธิ์ทั้งยับยั้งการเจริญเติบโต และทำลายเซลล์มะเร็ง เมื่อป้อนสารสกัดของผลและฝัก ขนาด 5 มก./กก. น้ำหนักตัว มีผลลดจำนวนหนูเม้าส์ที่เป็นมะเร็งผิวหนังได้
ฤทธิ์ลดระดับคอเล สเตอรอล
สารสกัดน้ำของส่วนใบ มีผลลดระดับคอเลสเตอรอลและลดการเกิด plaque ในหลอดเลือดของหนูแรทและกระต่ายซึ่งได้รับอาหารชนิดที่มีไขมันสูง การทดสอบโดยให้กระต่ายที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงและกระต่ายปกติ โดยให้กินผลมะรุมขนาด 200 มก./กก. น้ำหนักตัว ต่อวัน นาน 120 วัน เปรียบเทียบกับยาลดไขมันโลวาสแตทิน 6 มก./กก. น้ำหนักตัว ต่อวัน และให้อาหารไขมันมาก พบว่ามีผลลดระดับคอเลสเตอรอล, phospholipids, triglycerides, low density lipoprotein (LDL), very low density lipoprotein (VLDL), อัตราส่วนระหว่างคอเลสเตอรอลและ phospholipids และ atherogenic index ในกระต่ายกลุ่มแรกได้
ฤทธิ์ต้านการเกิด แผลในกระเพาะอาหาร
สารสกัด เมทานอลของใบ และสารสกัดเมทานอลจากส่วนดอก สามารถยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูแรท ซึ่งถูกเหนี่ยวนำโดยแอสไพรินได้ ในขณะที่สารสกัดน้ำจากใบมีผลป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วย
ฤทธิ์ป้องกันตับ อักเสบ
สารสกัด80% เอ ทานอลจากใบ สารสกัดน้ำและสารสกัดเอทานอลจากดอก มีฤทธิ์ป้องกันการทำลายเซลล์ตับหนูแรทที่ได้รับ acetaminophen (ยาพาราเซตามอล) และสารสกัดน้ำจากส่วนรากแสดงฤทธิ์ป้องกันการทำลายเซลล์ตับหนูแรทจากการ เหนี่ยวนำโดยยาไรแฟมพิซิน
ฤทธิ์ต้าน ออกซิเดชัน
สารสกัด น้ำ สารสกัด 80% เมทานอล และสารสกัด 70% เอ ทานอลจากส่วนใบ ผงแห้งบดหยาบและสารสกัดน้ำจากเมล็ด และสารในกลุ่ม phenol จาก ส่วนราก สามารถต้านและกำจัดอนุมูลอิสระได้
ฤทธิ์ต้านเชื้อ แบคทีเรีย
น้ำ คั้นสดของใบ สารประกอบคล้ายpterygospermin ของดอก สารสกัดอะซีโตนและสารสกัดเอทานอลจากเมล็ด สารสกัดน้ำจากเมล็ด น้ำคั้นจากเปลือกต้น สารสกัดเอทานอลของเปลือกราก และสาร athomin จากเปลือกราก มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด นอกจากนี้ยังมีการใช้สารสกัดน้ำมันจากเมล็ด ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ กับตา โดยพบว่าใช้ได้ดีกับ pyodermia ในหนูเมาส์ ที่มีสาเหตุมาจาก Staphylococcus aureus
ฤทธิ์ลดระดับ น้ำตาล
ผงใบ แห้ง สารสกัด 95% เอทานอล และเถ้าจากเปลือกต้น มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูแรทปกติ และหนูที่เป็นเบาหวาน ส่วนสารสกัดเมทานอลจากเปลือกรากแสดงฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในหนูเม้าส์
ฤทธิ์ต้านการ อักเสบ
ชาชง น้ำร้อน และสารสกัดเมทานอลจากราก มีฤทธิ์ยับยั้งอาการบวมที่อุ้งเท้าหลังของหนูแรทและหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยว นำด้วยคาราจีแนน ในขณะที่เมล็ดแก่สีเขียว สารสกัดเอทานอลจากเมล็ดแห้ง และสารสกัดเอทานอลจากเมล็ด มีผลลดการอักเสบของทางเดินหายใจในหนูตะเภา ซึ่งยืนยันถึงการใช้มะรุมในทางพื้นบ้านเพื่อบำบัดอาการผิดปกติจากภูมิแพ้ เช่น หอบหืด สารสกัดเอทานอลจากเมล็ด สามารถลดการบวมของอุ้งเท้าบริเวณข้อของหนูแรท และพบว่าสารสกัดมะรุมมีผลลด oxidative stress ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วย
ความ เป็นพิษ
มีการ รายงานความเป็นพิษของมะรุมในระดับเซลล์และในสัตว์ทดลองว่า
 สารสำคัญ4(alpha-L-rhamnosyloxy) phenylacetonitrile จากเมล็ด แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์ใน Micronucleus test
 สารสกัดน้ำจากใบ หรือ 90% เอ ทานอล ในขนาด 175 มก./กก. ของน้ำหนักแห้ง เมื่อป้อนให้หนูแรทที่มีการผสมพันธุ์ สามารถทำให้เกิดการแท้งได้
 สารสกัดน้ำของรากขนาด 200 มก./กก.น้ำหนักตัว เมื่อให้กับหนูแรท จะเหนี่ยวนำให้เกิดทารกฝ่อ (foetal resorption) ในการตั้งครรภ์ระยะสุดท้าย
 สารสกัดเมล็ดด้วย0.5 M borate buffer มีผลทำให้เม็ดเลือดแดงของกระต่ายรวมตัวกัน
เมื่อให้หนูแรทกินผงของเมล็ดดิบที่แก่ของมะรุม โดยไม่จำกัดจำนวนเป็นเวลา 5 วัน พบว่าทำให้ความอยากอาหาร การเจริญเติบโตและการใช้โปรตีนลดลง ขนาดของกระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับ ตับอ่อน ไต หัวใจ และตตตสนวสรผเดกฟปปปอปปปอดใหญ่ขึ้น ในขณะที่ต่อมไทมัส และม้ามมีลักษณะฝ่อลง โดยเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีไข่ขาวเป็นส่วนประกอบ
การทดสอบความเป็นพิษโดยให้หนูเม้าส์กินส่วนราก หรือฉีดสารสกัดไม่ระบุชนิดตัวทำละลายเข้าใต้ผิวหนัง ในขนาด 10 ก./กก. น้ำหนักตัว ไม่พบความเป็นพิษ

          การทดลองในสัตว์เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่มีประโยชน์เพื่อการทำวิจัยต่อยอดไป ยังการทดลองในมนุษย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตัวทำละลายที่นักวิจัยใช้ในการสกัดจะมีทั้งน้ำ และแอลกอฮอล์ เพื่อให้สะดวกต่อการป้อนสัตว์ทดลอง ซึ่งข้อมูลข้างต้นเป็นความรู้ที่จะทำให้สามารถหาส่วนสกัดที่มีสารสำคัญได้ หากจะรับประทานใบ เนื้อในฝัก หรือดอกมะรุม ซึ่งเราใช้เป็นอาหารมานานแล้วเพื่อการรักษาโรค ก็อาจทำได้แต่อย่าหวังผลมากนัก และไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก หรือติดต่อกันนานเกินไป ซึ่งอาจมีการสะสมสารบางอย่างและอาจเป็นพิษได้ และจากรายงานความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง ซึ่งพบว่าทำให้เกิดการแท้ง ดังนั้นควรระมัดระวังการใช้ส่วนต่างๆ ของมะรุมในสตรีมีครรภ์

บทความ "ย่านาง อาหารที่เป็นยา" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ย่านาง ...อาหารที่เป็นยา

ย่านาง, ประโยชน์ของย่านาง

ย่านางนับว่าเป็นผักที่มีประโยชน์อีกชนิดหนึ่ง มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ใช้ในการประกอบอาหารพื้นบ้านไทยหลายๆ ตำรับ ในใบย่านางมีวิตามินเอและซีสูง นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารอาหารสำคัญอื่นๆ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ไฟเบอร์ แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไทอะมีน ไรโบฟลาวิน และไนอะซีน สำหรับสรรพคุณในทางยา ย่านางถือเป็นยาเย็น มีความโดดเด่นด้านการดับพิษและลดไข้ โดยรากใช้แก้ไข้ทุกชนิด เช่น ไข้พิษ ไข้เหนือ ไข้หัด สุกใส ไข้กาฬ ขับกระทุ้งพิษไข้ ถอนพิษผิดสำแดง และแก้เบื่อเมา ส่วนใบและเถา จะใช้แก้ไข้ ลดความร้อน และแก้พิษตานซาง รากย่านางเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของตำรับยาเบญจโลกวิเชียร หรือยา5 ราก หรือแก้วห้าดวง ซึ่งเป็นตำรับยาแก้ไข้ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ในบัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ร่วมกับรากชิงชี่ รากท้าวยายหม่อม รากคนทา และรากมะเดื่อชุมพร
          เมื่อศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมี ในรากย่านางส่วนใหญ่เป็นอัลคาลอยด์ในกลุ่ม isoquinoline ในใบประกอบด้วยสารโพลีแซคคาไรด์ สารโพลีฟีนอล แคลเซียมออกซาเลท และอัลคาลอยด์กลุ่ม isoquinoline สำหรับการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของย่านาง ยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการทดลองในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ยังไม่พบรายงานการวิจัยในคน โดยพบว่าย่านางมีฤทธิ์ลดไข้ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum แก้ปวด ลดความดันโลหิต ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านการแพ้ ลดการหดเกร็งของลำไส้ ต้านการเจิญของเซลล์มะเร็ง ยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase และมีฤทธิ์อย่างอ่อนๆ ในการต้านอนุมูลอิสระ
การศึกษาด้านความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง พบว่าสารสกัดน้ำจากทั้งต้นและสารสกัด 50%  เอทานอลจากใบไม่เป็นพิษต่อหนูแรท แต่การป้อนรากย่านางในขนาดสูง มีความเป็นพิษทำให้สัตว์ทดลองตาย
จะเห็นว่าย่านางเป็นสมุนไพรในครัวเรือนอีกชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ ปัจจุบันมีการแนะนำการใช้น้ำคั้นจากใบย่านางดื่มเพื่อปรับสมดุลของร่างกาย โดยนักวิชาการสาธารณสุขด้านการแพทย์ทางเลือก รวมทั้งมีการรวบรวมประสบการณ์การใช้น้ำคั้นจากใบย่านางในการรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ มาเผยแพร่ แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของย่านางยังมีไม่มากนัก ยังไม่พบรายงานการศึกษาทางคลินิก รวมทั้งข้อมูลด้านความเป็นพิษในคน ดังนั้นการใช้ย่านางรักษาโรคอื่นๆ นอกเหนือจากแก้ไข้ซึ่งมีประวัติการใช้มาเนิ่นนานแล้ว จึงควรระมัดระวังและมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการใช้ในการรักษาโรค เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้

บทความวิจัย "รางจืด สมุนไพรแก้พิษและล้างพิษ" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รางจืด สมุนไพรแก้พิษและล้างพิษ

 รางจืด,สมุนไพรแก้พิษ,สมุนไพรล้างพิษ

ช่วงนี้มีข่าวคราวถึงสมุนไพรที่ชื่อ “รางจืด” กันมาก ภาครัฐมีความพยายามที่จะนำศักยภาพของภูมิปัญญาไทยมาปัดฝุ่น และใช้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาช่วยในการขับเคลื่อนสมุนไพรชนิดนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยและมนุษยชาติ วันนี้สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะรายงานให้ท่านได้เห็นภาพของสมุนไพร “รางจืด” ชัดเจนขึ้น
รางจืดมีประวัติในการใช้ล้างพิษในร่างกาย แก้อาการแพ้ผื่นคัน และโรคผิวหนัง เช่น เริม ว่ากันว่าชาวบ้านจะกินน้ำคั้นใบหรือรากรางจืดก่อนที่จะไป “แข่งพนันดื่มเหล้าทนไม่เมา”และได้ผลดี เวลารับประทานของแสลง แล้วปวดท้อง ท้องเสีย ที่เรียกว่าผิดสำแดง ก็จะใช้ใบรางจืดเช่นกัน ทั้งยามเผอิญหรือตั้งใจกินสารพิษ ก็ใช้รางจืดแก้พิษได้ มีการวิจัยในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ชัดเจน
พ.ศ. 2521 นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นกลุ่มแรกที่ทดลองป้อนผงรากรางจืดให้หนูทดลองก่อนให้น้ำยาสตริกนินแต่พบว่าไม่ได้ผล หนูชักและตาย แต่ถ้าผสมกับน้ำยาสตริกนินก่อนป้อน พบว่าหนูทดลองไม่เป็นอะไร แสดงว่าผงรากรางจืดสามารถดูดซับสารพิษชนิดนี้ไว้
พ.ศ. 2523 อาจารย์พาณี เตชะเสนและคณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้น้ำคั้นใบรางจืดป้อนหนูทดลองที่กินยาฆ่าแมลง“โฟลิดอล”พบว่าแก้พิษได้ ลดอัตราการตายลงจาก 56% เหลือเพียง 5% เท่านั้น ในขณะที่วิธีการฉีดกลับไม่ได้ผล
พ.ศ. 2551 สุชาสินี คงกระพันธ์ ใช้สารสกัดแห้งใบรางจืดป้อนหนูทดลองที่ได้รับยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกนโนฟอสเฟตชื่อมาราไธออนพบว่าช่วยชีวิตได้ 30%
พ.ศ. 2553 จิตบรรจง ตั้งปอง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พบว่าสารประกอบในใบรางจืดช่วยป้องกันการตายของเซลล์ประสาทของหนูทดลองที่ได้รับพิษจากสารตะกั่ว จึงสามารถป้องกันสูญเสียการเรียนรู้และความจำได้อย่างมีนัยสำคัญ
มีการวิจัยเรื่องใบรางจืดสามารถปกป้องตับ ซึ่งเป็นอวัยวะที่กำจัดสารพิษในร่างกาย ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยรักษาชีวิตของผู้ที่ได้รับสารพิษ พ.ศ. 2543 รายงานวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าสารสกัดแห้งของน้ำใบรางจืดน่าจะมีผลลดความเป็นพิษของตับจากแอลกอฮอล์ได้ พ.ศ. 2548 พรเพ็ญ เปรมโยธิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานผลว่าสารสกัดน้ำรางจืดแสดงฤทธิ์ดังกล่าว ทั้งในหลอดทดลองและในหนูทดลอง
นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัดน้ำใบรางจืดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วย
ถ้าจะใช้สมุนไพร ควรพิจารณาความเป็นพิษด้วย สำหรับใบรางจืดมีการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันที่ป้อนหนูทดลองครั้งเดียว ทั้งขนาดปกติและขนาดสูง ไม่พบความผิดปกติใด ๆ และป้อนติดต่อกัน 28 วันขนาด 500 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ไม่พบอาการผิดปกติเช่นกัน แต่อาจทำให้น้ำหนัก ตับ ไต สูงกว่ากลุ่มควบคุม  ค่าชีวเคมีที่เกี่ยวกับไตสูงขึ้น และAST สูงขึ้น จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง และไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
สำหรับการทดลองในคน ยังมีไม่มากนัก นพ. ปัญญา อิทธิธรรม  ทดลองเก็บข้อมูลการใช้สมุนไพรรางจืดในเกษตรกรซึ่งสัมผัสสารฆ่าแมลง ทั้งกลุ่มไม่ปลอดภัย กลุ่มเสี่ยง กลุ่มปลอดภัย โดยตรวจจากระดับเอนไซม์ในร่างกายที่เพิ่มขึ้นเมื่อได้รับสารพิษนี้   พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มที่กินและไม่ได้กินสารสกัดน้ำรางจืด แต่ยังสรุปไม่ได้ชัดเจนเพราะมีปัจจัยที่แตกต่างของพื้นฐานร่างกายอื่นๆ ของอาสาสมัคร เช่น ความแข็งแรง อายุเป็นต้น
เดือนกุมภาพันธ์ 2551 มีข่าวเรื่องน้ำคั้นใบรางจืดช่วยชีวิตผู้ป่วยอาการหนักมากจากพิษแมงดาทะเล ซึ่งได้รับการยืนยันจากแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพรเขตอุดมศักดิ์แสดงว่ารางจืดน่าจะมีสรรพคุณในการกำจัดพิษในร่างกายตามที่ตำรายาไทยระบุไว้
อย่างไรก็ตามการทดลองหากลไกที่สารประกอบในใบรางจืดกำจัดพิษและทดลองในคน รวมทั้งการทดสอบพิษระยะยาวที่ให้หนูทดลองกินติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน มีความสำคัญต่อการนำมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจังและถูกต้อง ทั้งต้องให้ชัดเจนว่าสามารถแก้พิษอะไรได้บ้าง ในขนาดเท่าไร  และคุณภาพของใบรางจืดควรเป็นแบบใด เพราะในพื้นที่ปลูกและกระบวนการปลูกอาจก่อให้เกิดโลหะหนักในวัตถุดิบที่เกินมาตรฐาน เช่น แคดเมียมเป็นต้น การที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสนใจและจะจัดสรรงบประมาณพุ่งเป้าให้วิจัยสมุนไพรรางจืดเป็นนิมิตรหมายที่ดี เพราะไม่มีเงินทำวิจัย นักวิทยาศาสตร์มีแต่สมองก็ทำอะไรไม่ได้

บทความวิจัย "ชะเอมเทศ กับความดันโลหิตสูง" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ชะเอมเทศ กับความดันโลหิตสูง

ชะเอมเทศ, ความดันโลหิตสูง, รักษาความดันโลหิต, โรคความดัน

ชะเอมเทศ(Glycyrrhiza glabraL.) หรือ Licorice เป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย สรรพคุณพื้นบ้านใช้รากเป็นยาขับเสมหะทำให้ชุ่มคอ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว แก้คอแห้ง ขับลม แก้คัน บำรุงร่างกาย ขับเลือดเน่า และเจริญซึ่งหทัยวาตให้สดชื่นเนื่องจากรากของชะเอมเทศพบสารสำคัญคือสาร glycyrrhizin (หรือ glycyrrhizic acid หรือ glycyrrhizinic acid) และ 24-hydroxyglyrrhizin ซึ่งสารเหล่านี้ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 50 - 100 เท่า รากชะเอมจึงถูกนำไปแต่งรสอาหาร ปรุงยาสมุนไพร หรือใช้แต่งรสหวานในขนมและลูกอม
          มีรายงานว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์จากชะเอมเทศติดต่อกันนานๆ มีผลต่อความดันโลหิต โดยพบรายงานในหญิงอายุ 31 ปีที่รับประทานฝรั่งจิ้มผงชะเอมเทศ (asam boi) ครั้งละน้อยๆ จนถึง 3 ช้อนโต๊ะ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันนาน 6 สัปดาห์ ชายสูงอายุวัย 70 ปี ที่รับประทานลูกอมชะเอมเทศวันละ 60 - 100 ก. (เม็ดละ 2.5 ก. พบ glycyrrhizic acid 0.3%ต่อเม็ด) ทุกวันเป็นเวลา 4 - 5 ปี หญิงสูงอายุที่รับประทานยาระบายที่มีส่วนผสมของชะเอมเทศ วันละ 2 ครั้ง (ได้รับ glycyrrhizic acid 94 มก./วัน) และหญิง 2 รายที่รับประทานหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของชะเอมเทศติดต่อกันทุกวัน (รับประทาน glycyrrhizic acidเฉลี่ยวันละ 50 มก.) ทุกรายถูกนำส่งโรงพยาบาลเนื่องจากมีค่าความดันโลหิตสูง (190 - 200/120 มม.ปรอท) ร่วมกับมีอาการปวดหัว อ่อนแรงตามข้อต่อ และเมื่อตรวจวัดค่าชีวเคมีในเลือดพบว่า ทุกรายมีปริมาณโพแทสเซียมต่ำ (hypokalemia) เกิดภาวะ hypermineralocotiodism (ทำให้ระดับ aldosterone เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ร่างกายกักเก็บโซเดียมไว้มากขึ้น จนร่างกายมีน้ำเกิน เกิดอาการบวมและเพิ่มความดันโลหิต) และมีรายงานในอาสาสมัคร 37 คน ที่รับประทานยาสมุนไพรในประเทศญี่ปุ่น Shakuyaku-kanzo-To(SKT) หรือ Shosaiko-To (SST) ซึ่งส่วนผสมของชะเอมเทศขนาด 6 ก. และ 1.5 ก. ตามลำดับ พบว่ากลุ่มที่รับประทาน SKT เกิดภาวะ pseudoaldosteronism (ภาวะที่มีปริมาณฮอร์โมน aldoterone สูงกว่าปกติ) เฉลี่ยในวันที่ 35 หลังจากรับประทาน ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับ SSTผลจะแสดงออกในวันที่ 450 และเมื่อเทียบกับการรับประทานผลิตภัณฑ์อื่นจากชะเอมเทศที่มี glycyrrhizinพบว่าจะมีผลในวันที่ 210 โดยพบความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณ glycyrrhizinว่ามีผลต่อการเกิด pseudoaldosteronismอย่างมีนัยสำคัญ และพบว่ากว่า 80% ของผู้ที่รับประทาน SKT ติดต่อกันนาน 30 วัน มีผลโพแทสเซียมในเลือดต่ำเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี จึงอาจกล่าวได้ว่าผู้สูงอายุที่รับประทาน SKT เกิน 30 วัน เสี่ยงต่อการเกิดโพแทสเซียมในเลือดต่ำได้
          การทดลองในอาสาสมัครสุขภาพดี 24 คน แบ่งเป็น 4 กลุ่มให้ได้รับสารสกัดน้ำจากรากชะเอมเทศในปริมาณ glycyrrhizin ขนาด 108, 217, 308 และ 814 มก. ตามลำดับ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าไม่พบอาการข้างเคียงใดๆ ในอาสาสมัครกลุ่มที่ 1 และ 2 แต่พบว่าอาสาสมัครที่ได้รับ glycyrrhizinขนาด 814 มก. (กลุ่มที่ 4) ปริมาณโพแทสเซียมในเลือดลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์แรกของการทดลอง และมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าปริมาณ rennin และ aldosterone ในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่ 3 และ 4
          จากรายงานและผลการทดลองข้างต้นแสดงให้เห็นว่าควรระมัดระวังการรับประทานชะเอมเทศในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะโพแทสเซียมต่ำ และมีคำเตือนว่าไม่ควรใช้ชะเอมเทศในขนาดที่มากกว่า 50ก./วัน เกินกว่า 6 สัปดาห์ จะทำให้เกิดการสะสมน้ำในร่างกาย เกิดการบวมที่มือและเท้า สารโซเดียมถูกขับได้น้อยลง ขณะที่สารโพแทสเซียมถูกขับมากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และไม่ควรใช้ชะเอมเทศร่วมกับยาขับปัสสาวะ (กลุ่ม thiazide)หรือยากลุ่ม cardiac glycosides เพราะชะเอมเทศจะมีผลทำให้สารโพแทสเซียมถูกขับออกมาขึ้นและหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ spironolactone หรือ amilorideเพราะจะทำให้ประสิทธิผลการรักษาโรคความดันโลหิตลดลง

บทความวิจัย "มะระขี้นก" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

มะระขี้นก

มะระขี้นก,เบาหวาน,อินซูลิน

รองศาสตราจารย์ ดร.วีณา จิรัจฉริยากูล
ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 
          มะระขี้นก (Momordica charantia L.) เป็นสมุนไพรที่ใช้กันมานานนับพันปี ในเอเซีย อาฟริกา และละตินอเมริกา อายุรเวทใช้ผลมะระรักษาเบาหวาน โรคตับ บรรเทาอาการโรคเก๊าต์และข้ออักเสบ ตำรายาไทยใช้ใบมะระในตำรับยาเขียวลดไข้ รากในตำรับยาแก้โลหิตเป็นพิษ และโรคตับ
          งานวิจัยสมุนไพรมะระได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ค.ศ. 1962 ซึ่ง Lotlika และ Rao ได้ค้นพบชาแรนตินในผลมะระ ที่แสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลอง ในปี 1965 Sucrow ได้พิสูจน์โครงสร้างเคมีของชาแรนติน พบว่าเป็นสารผสมของ sitosteryl- และ 5,25-stigmastadien-3-beta-ol-D-glucosides ในอัตราส่วน 1:1 ปี 1977 Baldwa และคณะ ได้แยกสารคล้ายอินซูลินจากผลมะระและมีฤทธิ์ลดน้ำตาล ในปี 1981 Khana และคณะได้พิสูจน์โครงสร้างของสารคล้ายอินซูลิน พบว่าเป็นโพลีเปปไทด์ที่มีน้ำหนักโมเลกุล 11,000 ดาลตัน และมีกรดอะมิโน 166 residues เรียกสารนี้ว่า โพลีเปปไทด์ พี สารขมกลุ่มคิวเคอร์บิตาซินซึ่งเป็น chemotaxonomic character ของพืชวงศ์ Cucurbitaceae คิวเคอร์บิตาซินในมะระ คือ momordicosides, momordicins, karaviloside K1 และ charantoside มีรายงานว่าสารขมดังกล่าวมีฤทธิ์ลดน้ำตาล
          ในมะระขี้นกมีสารหลายชนิดที่ต้านเบาหวาน และมีหลายกลไกที่ออกฤทธิ์ต้านเบาหวาน ได้แก่ เสริมการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ เสริมการเผาผลาญน้ำตาล เพิ่มความไวต่ออินซูลิน เพิ่มความทนต่อกลูโคส (glucose tolerance) นอกจากนี้ยังยับยั้งการหลั่งกลูโคสในลำไส้เล็ก และยับยั้งเอนไซม์กลูโคไซเดส
          น้ำคั้นจากผลมะระขี้นกแสดงฤทธิ์ต้านเบาหวานในกระต่ายและหนูขาว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามะระสามารถชะลอความผิดปกติของไต การเกิดต้อกระจก การเสื่อมของเส้นประสาทซึ่งเป็นผลมาจากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน หรือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลเลือดให้ปกติ
          การศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (8 คน) พบว่าผู้ป่วยทนต่อกลูโคสได้ดีขึ้น ลดระดับน้ำตาลขณะอิ่ม และลดความถี่ของการถ่ายปัสสาวะ จึงขอแนะนำผู้ป่วยเบาหวานบริโภคมะระขี้นกเป็นอาหาร หรือในรูปน้ำคั้นเป็นอาหารเสริม เพื่อช่วยรักษาระดับความดันเลือดให้ปกติ และชะลออาการต่างๆที่เป็นผลเสียจากโรคเบาหวานที่เป็นมานาน
          มะระขี้นก (สีเขียว) มีคุณค่าทางอาหารเพราะมีวิตามินเอ (2,924 IU) ไนอะซิน (190 มก./100 ก) และมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ
          การเตรียมน้ำคั้นจากผลมะระขี้นก ขนาดที่ใช้ต่อวัน ผลสด 100 ก. นำมาผ่าครึ่ง ใช้ช้อนกาแฟขูดไส้ในและเมล็ดออก หั่นเนื้อผลเป็นชิ้นเล็กขนาดกว้าง 1 ซม. ใส่ในเครื่องปั่นแยกกาก จะได้น้ำมะระประมาณ 40 มล. ดื่มหลังอาหารเช้าหรือเย็น

บทความวิจัย "แป๊ะตำปึง" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แป๊ะตำปึง

ฟลาโวนอยด์,ต้านอักเสบ ,แก้ฟกบวม แก้คัน แก้พิษอักเสบ แก้พิษแมลงกัดต่อย งูสวัด เริม

รองศาสตราจารย์ ดร.วีณา จิรัจฉริยากูล
ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 
          แป๊ะตำปึง มีชื่อวิทยาศาสตร์ Gynura procumbens (Lour.) Merr. เป็นยาเย็น ตำรายาไทยและจีนใช้ใบสดตำละเอียดผสมสุราพอกปิดฝี แก้ฟกบวม แก้คัน แก้พิษอักเสบ แก้พิษแมลงกัดต่อย งูสวัด เริม
          งานวิจัยสมุนไพรแป๊ะตำปึงที่ได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 พบว่า สารสกัดอัลกอฮอล์จากส่วนเหนือดินมีคุณสมบัติต้านอักเสบในสัตว์ทดลอง และพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์หลายชนิด ได้แก่ kaempferol ในรูปอิสระและกลัยโคไซด์ quercetin ในรูปอิสระและกลัยโคไซด์ ฟลาโวนอยด์เป็นสารที่อาจแสดงฤทธิ์ต้านอักเสบ ได้มีการทดลองใช้เจลต้านอักเสบที่มีสารสกัดแป๊ะตำปึง 2.5% เป็นตัวยา ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด ซึ่งมักจะมีอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบ (chemotherapy related mucositis) พบว่าสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของอาการได้อย่างมีนัยสำคัญ สมุนไพรแป๊ะตำปึงยังมีฤทธิ์ต้านไวรัสเริมในหลอดทดลอง ซึ่งสารกลุ่มที่แสดงฤทธิ์ดังกล่าว ได้แก่ กลุ่ม dicaffeoyl quinic acids, sitosteryl- และ stigmasteryl glucosides และ 1, 2-bis-dodecanoyl-3-alpha-D-glucopyranosyl-sn-glycerol ได้มีการทดลองใช้เจลต้านอักเสบที่มีสารสกัดแป๊ะตำปึงเป็นตัวยาในผู้ป่วยที่เป็นเริมที่ริมฝีปาก พบว่า ปริมาณไวรัสมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับยาหลอก้

บทความวิจัย "ว่านชักมดลูก" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ว่านชักมดลูก

ว่านชักมดลูก,เอสโตรเจน,ปวดประจำเดือน,อาหารไม่ย่อย,ธาตุพิการ,ตกขาว,วัยทอง

รองศาสตราจารย์ พร้อมจิต ศรลัมพ์
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          ว่านชักมดลูก เป็นพืชที่มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน อยู่ในวงศ์ขิง กลุ่มเดียวกับขมิ้นชัน การสุ่มซื้อว่านชักมดลูกในตลาดสมุนไพร พบว่าเป็นเหง้าที่มีลักษณะต่างกันอยู่ กลุ่มที่พบมากจะเรียกกันว่า ว่านชักมดลูกตัวเมีย (Curcuma comosa) และ ว่านชักมดลูกตัวผู้ (Curcuma latifolia)
          ว่านชักมดลูกตัวเมีย ขอเรียกสั้น ๆ ในบทความนี้ว่า ว่านตัวเมีย ลักษณะหัวกลมรีตามแนวตั้ง แขนงสั้น
 
          ว่านชักมดลูกตัวผู้ (Curcuma latifolia) หรือว่านตัวผู้ มีลักษณะต่างไปเล็กน้อย คือหัวใต้ดินจะกลมแป้นกว่า แขนงข้างจะยาวกว่า แต่บางครั้งแขนงข้างถูกตัดออกไป หรือหักไป ทำให้จำแนกไม่ชัดเจนนัก ผู้ไม่คุ้นเคยอาจจำแนกไม่ได้ และมักมีปัญหาในการซื้อขาย
 
          หากผ่าดูเนื้อในเปรียบเทียบกัน ว่านตัวเมีย จะมีสีขาวนวล วงในมีสีชมพูเรื่อ ๆ ทิ้งไว้สีชมพูจะเข้มขึ้น ส่วนเนื้อในว่านตัวผู้มีสีคล้ายกัน แต่วงในออกสีเขียวแกมเทาอ่อน ๆ ทิ้งไว้จะออกสีชมพูเข้มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน แต่หากผู้ซื้อไม่มีตัวอย่างเทียบเคียงจะจำแนกยาก
          จากการสำรวจและตรวจสอบพันธุกรรมดีเอ็นเอ ระบุว่าว่านชักมดลูกมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์มากกว่า 2 ชนิด แต่ที่มีการวิจัยตรวจสอบคุณภาพชัดเจน มีเพียงสองชนิดข้างต้น
          อนึ่ง พบว่าพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย ไม่พบปลูกในประเทศไทย และมีลักษณะคล้ายว่านชักมดลูกของไทย รวมทั้งมีสรรพคุณคล้ายกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma xanthorrhiza มีการวิจัยในต่างประเทศค่อนข้างมาก ทำให้มีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นผลวิจัยของว่านชักมดลูกของเรา พบว่ามีสารสำคัญคนละกลุ่มกัน ส่วนว่านชักมดลูกของเรามีการวิจัยอย่างเป็นระบบในสัตว์ทดลองโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวไทยล้วน
          สรรพคุณตามตำรายาไทย ใช้เหง้าว่านชักมดลูกรักษาอาการของสตรี เช่นประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน ตกขาว ขับน้ำคาวปลา แก้ธาตุพิการอาหารไม่ย่อย ริดสีดวงทวาร และไส้เลื่อน
          จากสรรพคุณดังกล่าว นักวิจัยตีความว่า ว่านชักมดลูกน่าจะมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงคือเอสโตรเจน จึงนำมาสู่งานวิจัยเพื่อพิสูจน์ ในการทดลองฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน สัตว์ทดลองใช้หนูแรตตัวเมียที่ตัดรังไข่ออกไป โดยมีกลุ่ม 1 หนูปกติ กลุ่ม 2 หนูตัดรังไข่ กลุ่ม 3 หนูตัดรังไข่ได้รับเอสโตรเจน กลุ่ม 4 หนูตัดรังไข่ได้รับว่านตัวเมีย และกลุ่ม 5 หนูตัดรังไข่ได้รับว่านตัวผู้ พบว่าว่านตัวเมียแสดงฤทธิ์ดังกล่าวจริง โดยทำให้มดลูกหนูทดลองโตใกล้เคียงกับกลุ่ม 1 และ 3 สารออกฤทธิ์เป็นกลุ่มไดแอริลเฮปตานอยด์ ซึ่งมีโครงสร้างไม่หมือนเอสโตรเจน เราเรียกสารสำคัญของว่านตัวเมีย ว่าเป็นกลุ่มไฟโตเอสโตรเจน แปลว่าเป็นสารที่ได้จากพืชในธรรมชาติที่ออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจนนั่นเอง ส่วนกลุ่ม 2 และ 5 มดลูกหนูทดลองเล็กลงอย่างชัดเจน แสดงว่าว่านตัวผู้ไม่มีฤทธิ์ดังกล่าวเลย จึงไม่นำมาทดลองต่อไป ดังนั้นการเลือกวัตถุดิบว่านชักมดลูกที่ถูกต้องเพื่อใช้ทำยาแผนไทยจึงมีความสำคัญต่อสรรพคุณที่ต้องการ
          วงการแพทย์ยอมรับว่า สารกลุ่มไฟโตเอสโตรเจนมีศักยภาพสำหรับรักษาสุขภาพของสตรีวัยทอง การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในสตรีวัยทอง ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวามและแสบร้อนผิวหนัง หงุดหงิด ไขมันในเลือดสูง ผนังหลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น และที่สำคัญคือกระดูกพรุน ไฟโตเอสโตรเจนมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นและต้านการอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของความเสื่อมและความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย และพัฒนาเป็นโรคเรื้อรัง รวมทั้งโรคมะเร็งของอวัยวะต่าง ๆ
          จากผลการวิจัยในสัตว์ทดลองและหลอดทดลองของนักวิจัยไทยพิสูจน์ว่า ว่านตัวเมียและสารกลุ่มไดแอริลเฮปตานอยด์ มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นเทียบเท่าไวตามินซี มีฤทธิ์ต้านการอักเสบซึ่งเป็นผลดีกับโรคในระบบประสาท นอกจากนั้นยังช่วยรักษาและซ่อมแซมระบบหลอดเลือดและหัวใจด้วย
          พบสารชื่อโฟราซิโตฟีโนนในว่านชักมดลูกที่แสดงฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งน้ำดี และเสริมให้มีการหลั่งกรดน้ำดีมากขึ้น จึงลดการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี สำหรับความเป็นพิษ มีการทดลองพิษเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลันในสัตว์ทดลอง พบว่าสารประกอบข้างต้นมีความเป็นพิษต่ำ น่าจะปลอดภัยถ้าจะพัฒนาเป็นยา
          สารสกัดด้วยเอทิลอะซิเตทช่วยให้การลำเลียงไขมันออกจากเนื้อเยื่อต่างๆ เข้าไปในตับและเสริมให้เกิดการขับโคเลสเตดรอลและกรดน้ำดีสู่ทางเดินอาหารและออกจากร่างกายพร้อมอุจจาระ
          ว่านชักมดลูกทำให้หลอดเลือดแข็งแรงขึ้นโดยต้านออกซิเดชั่นที่เกิดขึ้นที่ผนังหลอดเลือดแดง การทดลองในหนูที่ตัดรังไข่เลียนแบบสตรีวัยทอง และให้กินผงว่านชักมดลูก และ สารสกัดด้วยเฮกเซน พบว่าสามารถป้องกันอาการเยื่อบุผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจขาดความยืดหยุ่น ทั้งยังแสดงฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วย
          พบทั้งฤทธิ์ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนที่ทดลองในหนูที่ถูกตัดรังไข่ และกินสารสกัดว่านตัวเมียติดต่อกัน 5 สัปดาห์ พบว่าสามารถป้องกันการสูญเสียแคลเซียม รัษาระดับความหนาแน่นของมวลกระดูกได้เช่นเดียวกับกลุ่มหนูที่กินเอสโตรเจน และดีกว่าเอสโตรเจนตรงที่ทำให้ขนาดมดลูกของหนูทดลองโตขึ้นน้อยกว่า
          มีข้อมูลว่าสมุนไพรหลายชนิดทำให้ตับอักเสบ จึงนำว่านตัวเมียมาทดสอบในประเด็นนี้ พบว่าว่านตัวเมียแสดงฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับจากสารพิษคาร์บอนเตตร้าคลอไรด์ได้โดยกระตุ้นกลไกการล้างพิษและลดการสร้างสารเคมีที่เป็นพิษในร่างกาย
          เมื่อให้หนูขาวกินสารสกัดแอลกอฮอล์ของว่านตัวเมียล่วงหน้า 4 วัน ก่อนฉีดสารทำลายไตชื่อ ซิสพลาติน หลังจากนั้น 5 วัน ฆ่าหนูเก็บเลือดไปตรวจหาระดับ BUN และพลาสมาเครอาทินิน พร้อมกับตรวจสภาพเซลล์ไตในกล้องจุลทรรศน์ และตรวจหาระดับเอนซามย์ที่แสดงถึงการทำลายเซลล์ไตพบว่า สารสกัดว่านตัวเมียทำให้ระดับของค่าต่าง ๆ ที่ระบุข้างต้นลดลงเป็นปกติเมื่อเปรียบเทียบกับหนูขาวกลุ่มควบคุมที่ถูกฉีดสารพิษเท่านั้น สารออกฤทธิ์เป็นสารกลุ่มไดแอริลเฮปตานอยด์ ผ่านกลไกต้านออกซิเดชั่น
          เฉพาะการวิจัยฤทธิ์ปกป้องตับและไตเท่านั้น ที่ทำการทดลองในหนูตัวผู้
          จอประสาทตาเสื่อมเป็นโรคของคนวัยทอง พบในผู้สูงอายุ (50 ขึ้นไป) ทำให้สูญเสียการมองเห็น สารต้านอนุมูลอิสระเป็นกระบวนการธรรมชาติที่จะป้องกันเซลล์เรตินาของตาจากการถูกทำลายโดยสภาพเครียดจากอนุมูลอิสระ และถ้าอยู่ในสภาพนี้ต่อเนื่อง จะเกิดความเสียหายต่อสารสีในเซลล์เรตินา ทำให้จอประสาทตาเสื่อม ในหลอดทดลอง สารกลุ่มไดแอริลเฮปตานอยด์ชนิดหนึ่งที่แยกได้จากว่านตัวเมียป้องกันเซลล์เรตินาจากความเสียหายดังกล่าวได้ด้วยกระบวน การต้านออกซิเดชั่น
          สำหรับโรคสมองเสื่อม ทดสอบการเรียนรู้และความจำของหนูวิสต้าที่ตัดรังไข่ เปรียบเทียบผลของสารสกัดเฮกเซนของว่านตัวเมียกับเอสโตรเจน ทดสอบทุกระยะเวลา 30 วัน สรุปผลว่า เมื่อทดสอบถึงวันที่ 67 หนูที่ตัดรังไข่ความจำเสื่อมลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเทียบกับหนูปกติ กลุ่มที่กินสารสกัดว่านตัวเมียและกลุ่มที่ฉีด estrogen ยังมีความจำดีใกล้เคียงกัน สารสกัดในขนาดสูงประสิทธิผลยิ่งดีขึ้น
          สารประกอบจากว่านตัวเมียฆ่าเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (P388 leukemic cell) โดยการทำลายดีเอ็นเของเซลล์มะเร็ง
          ว่านชักมดลูกตัวเมียเป็นสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพสูงที่จะผลิตเป็นยาสำหรับสตรีวัยทอง เพราะสามารถป้องกันและรักษาครอบคลุมอาการที่สำคัญได้หมด ที่น่าสนใจคือผงว่านตัวเมียแสดงผลการทดลองดีพอ ๆ กับสารสกัด ทำให้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ง่ายและไม่ต้องลงทุนมากอย่างไรก็ตามเป็นการทดลองในสัตว์ทดลอง ซึ่งเป็นกระบวนการเบื้องต้น จากนี้ควรมีการทดสอบความเป็นพิษระยะยาว จัดทำแนวทางตรวจสอบคุณภาพให้ชัดเจนและแม่นยำ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีและทดสอบในมนุษย์ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ในเร็ววันนี้ น่าจะมีผลิตภัณฑ์ว่านชักมดลูกตัวเมียสำหรับสตรีวัยทอง ที่สำเร็จด้วยฝีมือนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย