ในทุกหน้าของการเดินป่าอีสานจะมีกลิ่นหอมเฉพาะของไม้เถาเล็กๆ ขนาดของเถาประมาณ ๑-๑.๕ ซ.ม. ลักษณะเด่นคือใบจะออกตามเปราะของเถา เปราะละ ๓ ใบ คนอีสานเรียกเจ้าไม้เถาหอมนี้ว่า "ตั้งตุ่น"
ชื่อ ตั้งตุ่น ออกจะแปลกสำหรับคนภาคอื่น แต่ในบรรดาหมอยาอีสานจะเป็นที่รู้จักกันดี เพราะในใบลานเก่าๆ ของอีสานก็มีชื่อสมุนไพรต้นนี้อยู่ โดยจะมีการใช้เจ้าตั้งตุ่นเป็นยาสารพัด ที่เด่นๆ คือใช้ในการรักษากามโรค แก้ตกขาว เป็นยาขับลม แก้ไข้และเป็นยาบำรุง
หมอยาอีสานจะใช้ทุกส่วนของสมุนไพรต้นนี้เป็นยา ตำรับยาที่ใช้ในการรักษากามโรคและตกขาว จะใช้ตั้งตุ่นและรากเอนอ้าขาว เอนอ้าแดงต้มกิน ส่วนในการใช้เป็นยาแก้ไข้ ยาขับลม หรือยาบำรุงจะใช้ตั้งตุ่นต้มกินอย่างเดียวหรือต้มรวมกับสมุนไพรอื่นก็ได้
ไทยภาคกลางจะเรียกเจ้าต้นตั้งตุ่นของอีสานว่า "ชะลูดขาว" ในตำรายาไทยกล่าวว่ารากชะลูดขาวรสสุขุม บำรุงกำลัง แก้ใจสั่นหงุดหงิด แก้เสมหะและไข้พิษ ทั้งต้นมีรสหอมชุ่ม บำรุงกำลัง บำรุงตับปอด หัวใจให้ชุ่มชื่น ใบชะลูด มีรสสุขุม มีสรรพคุณแก้ไข้ กระจายโลหิตที่คั่งค้าง
จะเห็นว่าการใช้ประโยชน์ชะลูดด้านยาของคนไทยภาคกลางกับภาคอีสาน มีความคล้ายคลึงกันอยู่มาก นอกจากนั้น คนสมัยก่อนแทบทุกภาค จะมีการใช้เนื้อไม้ด้านในของชะลูดแต่งกลิ่นหอม โดยจะลอกเอากาบด้านมาผึ่งแดดให้แห้ง นำมาป่นให้ละเอียด ผสมกับเปลือกต้นโบง (มียางเหนียว) ที่ตากแห้งป่นให้ละเอียดแล้วเช่นกัน ใช้ทำธูปหอม
สมัยก่อนทุกบ้านจะต้องใช้ธูปบูชาพระ ชะลูดจึงเป็นสิ่งจำเป็นทีเดียว เพราะแต่ก่อนเรายังไม่มี น้ำหอมใช้กัน นอกจากนั้น ยังมีการนำเอาเปลือกด้านในที่ตากแห้งแล้วของชะลูด ไปอบเสื้อผ้าให้มีกลิ่นหอม นำไปแต่งกลิ่นในบุหรี่
ชะลูดจึงเป็นสมุนไพรที่ทุกคนรู้จักใช้กันทั่ว ไม่ใช่พืชที่แปลกใหม่อะไรเลย ในยุคนั้นถ้าใครไม่เคยใช้เจ้าตั้งตุ่นหรือชะลูดคงถูกมองดูแปลกๆ ว่าหลงมาจากไหน เพราะนอกจากจะมีมากในป่าด้านแถวอีสาน แล้ว ป่าพื้นราบแถวๆ เมืองจันทน์หรือแถวป่าตะวันออกก็มีดาษดื่น ในภาคใต้ก็มีเช่นกันแต่สายพันธุ์อาจแตกต่างกันบ้าง จึงมีการใช้ชะลูดในการเป็นแต่งกลิ่นหอมทั่วทุกภาค
ปัจจุบันไม่ค่อยมีคนรู้จักชะลูดมากนัก เพราะเรามีน้ำหอมจากต่างประเทศราคาแพงมาจำหน่าย ชะลูดจึงหมดความสำคัญไปเหมือนๆ เพื่อนสมุนไพรตัวอื่นๆ ที่ถูกแทนที่โดยยาฝรั่ง
ความจริงแล้วชะลูดเป็นสมุนไพรที่น่าสนใจมากต้นหนึ่ง ที่ควรนำมาพัฒนาให้เป็นยาและสมุนไพรเครื่องหอม เราสามารถที่จะนำชะลูดมาบดเป็นผงใส่ซองทำเป็นชาชงหรือทำเป็นยาต้มบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ตามสรรพคุณที่บรรพบุรุษเราใช้มา หรือทำในเชิงเป็นเครื่องหอมตามศาสตร์ของอโรมาเทอราปี (Aromaherapy) ที่ฝรั่งเขาฮิตกันนักหนา ด้วยเชื่อว่าของหอมๆ จะมีสรรพคุณในการกระตุ้นต่อมต่างๆ ของร่างกายให้ฟื้นฟูตัวเองขึ้นมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น