วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บทความวิจัย "น้ำมันไพลทอดต่างจากน้ำมันไพลกลั่นอย่างไร?" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

น้ำมันไพลทอดต่างจากน้ำมันไพลกลั่นอย่างไร?

น้ำมันไพล,สมุนไพร,สมุนไพรแก้บวม,สมุนไพรแก้ฟกช้ำ,สมุนไพรแก้เคล็ดยอก

รองศาสตราจาย์ ดร. เภสัชกรหญิงนพมาศ สุนทรเจริญนนท์
ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          ไพล หรือปูลอย ปูเลย มิ้นสะล่าง ว่านไฟ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber montanum (Koenig) Link ex Dietr. หรือ Zingiber cassumunar Roxb. วงศ์ Zingiberaceae เป็นสมุนไพรตัวหนึ่งในบัญชียาจากสมุนไพร ใน บัญชียาหลักแห่งชาติ ปี 2554 กลุ่มที่ 2 บัญชียาพัฒนาจากสมุนไพร กลุ่มยารักษาอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ยาสำหรับใช้ภายนอก ได้แก่ ตำรับยาครีมไพล [ประกอบด้วยน้ำมันไพลที่จากการกลั่น ร้อยละ 14 โดยปริมาตรต่อน้ำหนัก (v/w)] และ ยาน้ำมันไพล [สารสกัดน้ำมันไพลที่ได้จากการทอด (hot oil extract) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ในตำรับ ซึ่งเป็นสูตรเภสัชตำรับของโรงพยาบาล] ข้อบ่งใช้ของทั้งสองตำรับคือ บรรเทาอาการบวม ฟกช้ำ เคล็ดยอก1
          น้ำมันไพลที่ได้จากการทอดและการกลั่นต่างกันอย่างไร? น้ำมันไพลที่ได้จากการกลั่นเป็น น้ำมันหอมระเหย ซึ่งเป็นของเหลวที่เป็น hydrophobic ระเหยได้ อาจจะได้จากการกลั่นโดยการต้มด้วยน้ำ (water distillation) ไอน้ำจะพาเอาน้ำมันหอมระเหย ไปควบแน่นเมื่อสัมผัสกับความเย็นของเครื่องควบแน่น (condenser) วิธีการกลั่นแบบนี้เป็นวิธีที่ชาวยุโรปดั้งเดิมนิยมใช้กัน แต่มีข้อเสียตรงที่ไพลที่นำมากลั่นจะถูกความร้อนนาน อาจทำให้น้ำมันไพลที่ได้มีกลิ่นผิดไปได้ หรือจะได้จากการกลั่นโดยใช้การผ่านของไอน้ำเข้าสู่ภาชนะที่มีไพลบรรจุอยู่ (steam distillation) ไอน้ำจะพาเอาน้ำมันหอมระเหยไปควบแน่นที่เครื่องควบแน่น วิธีนี้มีข้อดีกว่าคือ ไพลจะถูกความร้อนไม่มาก น้ำมันหอมระเหยที่ได้จะไม่มีกลิ่นผิดเพี้ยนไป นั่นคือน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากทั้ง 2 วิธี จะมีสารประกอบทางเคมีที่ต่างกันบ้าง โดยทั่วไปน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการกลั่นจะประกอบด้วยสารประกอบทางเคมีที่มีโมเลกุลเล็ก ได้แก่ สารกลุ่ม monoterpenes (สารที่ประกอบด้วยคาร์บอนจำนวน 10 ตัว) และสารกลุ่ม sesquiterpenes (สารที่ประกอบด้วยคาร์บอนจำนวน 15 ตัว) น้ำมันหอมระเหยไพลที่ได้จากการกลั่นประกอบด้วย สารกลุ่ม monoterpenes ได้แก่ sabinene, terpinen-4-ol, alpha-pinene, alpha-terpinene, gamma-terpinene, limonene, myrcene, p-cymene, terpinolene2, (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl)butadiene (DMPBD), (E)-4-(3,4-dimethoxyphenyl)but-3-en-1-ol (Compound D)3,4
          ส่วนน้ำมันไพลที่ได้จากการทอดด้วยน้ำมันพืช เป็นวิธีของคนไทยโบราณที่ใช้เตรียมน้ำมันไพลเพื่อใช้ในครัวเรือน เป็นน้ำมันถูนวด แก้ปวดกล้ามเนื้อ ปัจจุบันหลายโรงพยาบาลของรัฐได้มีการเตรียมเป็นเภสัชตำรับของโรงพยาบาล และเป็นหนึ่งตำรับในบัญชียาจากสมุนไพร ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปี 2554 น้ำมันไพลสูตรนี้เตรียมได้จากการนำไพลสดมาทอดกับน้ำมันพืชชนิดอิ่มตัว (ประกอบด้วยกรดไขมันชนิดอิ่มตัว) ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันปาล์ม ไม่ควรใช้น้ำมันพืชชนิดไม่อิ่มตัว (ประกอบด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว) ได้แก่ น้ำมันงา น้ำมันมะกอก น้ำมันคำฝอย น้ำมันทานตะวัน หรือน้ำมันรำข้าว ทั้งนี้เพราะว่าน้ำมันชนิดไม่อิ่มตัวจะไม่ทนต่อความร้อน ทำให้พันธะคู่ในโมเลกุลเกิดการแตก และรวมตัวเป็นสาร “โพลีเมอร์” เกิดขึ้น ทำให้เกิดความหนืด นอกจากนี้จะทำให้เกิดควันได้ง่าย และน้ำมันเหม็นหืน น้ำมันพืชที่ใช้ในการทอดเป็นน้ำมันที่ประกอบด้วยกรดไขมัน (fatty acids) ซึ่งถือได้ว่าเป็นสารประกอบทางเคมีที่มีขั้วน้อย เป็นตัวทำละลายที่ดีในการสกัดสารที่มีขั้วน้อยด้วย ฉะนั้นน้ำมันพืชก็สามารถจะสกัดน้ำมันหอมระเหยซึ่งประกอบด้วยสารประกอบที่มีขั้วน้อยและโมเลกุลเล็กได้ พร้อมทั้งสกัดสารประกอบที่มีขั้วน้อยแต่มีโมเลกุลใหญ่ได้ด้วย ซึ่งในไพลนอกจากประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยแล้ว ยังประกอบสารกลุ่ม arylbutanoids, curcuminoids, และ cyclohexene derivatives เป็นสารที่มีโมเลกุลใหญ่กว่าสารในน้ำมันหอมระเหย และเป็นสารที่ไม่ระเหย สรุปง่าย ๆ คือ น้ำมันไพลที่ได้จากการกลั่นจะเป็นน้ำมันหอมระเหยที่ประกอบด้วยสารโมเลกุลเล็กและระเหยได้ ส่วนน้ำมันที่ได้จากการทอดจะประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยและสารที่มีโมเลกุลใหญ่และไม่ระเหย
          น้ำมันหอมระเหยและสารที่มีโมเลกุลใหญ่ (สารกลุ่ม arylbutanoids, curcuminoids, และ cyclohexene derivatives) เป็นกลุ่มสารที่มีผลการวิจัยพบว่า มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวดในสัตว์ทดลอง โดยมีกลไกการออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยากลุ่ม NSAIDs3,4-12 นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาทางคลินิกพบว่า ครีมไพลหรือไพลจีซาล (14% ของน้ำมันหอมระเหย) มีฤทธิ์ลดการอักเสบและการปวดของข้อเท้าแพลงในผู้ป่วยนักกีฬาที่บาดเจ็บข้อเท้าแพลงมากกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับยา หลอก13 และพบว่าครีมไพจีซาลได้ผลดีในการรักษาอาการปวดเมื่อยหลัง ไหล่ ต้นคอ เอว เข่า14 แต่ตำรับยาน้ำมันไพลที่ได้จากการทอดด้วยน้ำมันพืช หรือการสกัดด้วยตัวทำละลายที่ไม่มีขั้ว ยังไม่เคยมีการศึกษาทางคลินิกมาก่อน ซึ่งขณะนี้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษาโครงการ “การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสมุนไพรไทยเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า AFTA ด้วยสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ 2554” เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุน FTA กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กำลังศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมของตำรับยาครีมไพลสกัด ซึ่งเป็นการเลียนแบบวิธีการสกัดแบบภูมิปัญญา ซึ่งเป็นการสกัดสารหลาย ๆ ชนิด ไม่เพียงแต่น้ำมันหอมระเหยเท่านั้น และเป็นการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า
          ประชาชนสามารถจะเตรียมน้ำมันไพลใช้เองได้ในครัวเรือน จึงขอแนะนำวิธีเตรียมตำรับน้ำมันไพลทอดสูตรโบราณซึ่งใส่เหง้าขมิ้นชันด้วย เพื่อเสริมฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวด ทั้งนี้เพราะขมิ้นชันประกอบด้วยสารสำคัญคือ น้ำมันหอมระเหย และสารกลุ่ม curcuminoids ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวดได้

ตำรับน้ำมันไพลทอดสูตรโบราณ
หัวไพลสด2 กิโลกรัม
ขมิ้นชันสด1/2 กิโลกรัม
น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันมะพร้าว1 กิโลกรัม
ดอกกานพลู100 กรัม
การบูร100 กรัม
วิธีทำ
  1. หั่นไพลสด และขมิ้นชันสด ให้เป็นชิ้นบาง ๆ
  2. เทน้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันมะพร้าว ลงกระทะยกตั้งไฟ พอน้ำมันร้อนปานกลาง เอาไพลและขมิ้นชันลงทอดในน้ำมัน (เหมือนทอดกล้วยแขก) ทอดจนไพลและขมิ้นชันกรอบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่ แล้วน้ำมันเป็นสีเหลืองใส (ระวังไหม้) ช้อนเอาชิ้นไพลและขมิ้นชันออก
  3. ตำกานพลูให้ป่น นำลงทอดในน้ำมันต่อและลดไฟให้เหลือไฟอ่อน ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันที่อยู่ในกานพลูระเหยไป ทอดประมาณ 5 นาที กรองด้วยผ้าขาวบาง
  4. พอน้ำมันอุ่น ๆ ผสมการบูรลงในน้ำมัน แล้วเทลงในภาชนะที่สามารถปิดฝาให้สนิทป้องกันการระเหยได้ แล้วเทบรรจุลงขวดเล็กปิดฝาให้แน่นเพื่อนำไปใช้ต่อไป
เอกสารอ้างอิง
  1. คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา. บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2554. กรุงเทพฯ
  2. Casey TE, Dougan J, Matthews WS, Nabney J. Essential oil of “phai”, Zingiber cassumunar, from Thailand. Tropical Science 1971; 13(3): 199-202.
  3. Panthong A, Kanjanapothi D, Niwatananum V, et al. Antiinflammatory activity of compounds isolated from Zingiber cassumnar. Planta Med 1990; 56: 60.
  4. Jeenapongsa R, Yoovathaworn K, Sriwatanakul KM, et al. Anti-inflammatory activity of (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl) butadiene from Zingiber cassumunar Roxb. J Ethnopharmacol 2003; 87: 143-8.
  5. Panthong A, Kanjanapothi D, Niwatananant W, et al. Anti-inflammatory activity of compound D (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl) but-3-en-2-ol isolated from Zingiber cassumunar. Phytomedicine 1997; 4(3): 207-12.
  6. Ozaki Y, Kawahara N, Harada M. Anti-inflammatory effect of Zingiber cassumunar Roxb. and its active principles. Chem Pharm Bull 1992; 39(9): 2353-6.
  7. Pongprayoon U, Tuchinda P, Claeson P, et al. Topical antiinflammatory activity of the major lipophilic constituent of the rhizome of Zingiber cassumunar, Part 1, The essential oil. Phytomedicine 1997; 3(4): 319-22.
  8. Pongprayoon U, Tuchinda P, Claeson P, et al. Topical antiinflammatory activity of the major lipophilic constituent of the rhizome of Zingiber cassumunar, Part 2, Hexane extractives. Phytomedicine 1997; 3(4): 323-6.
  9. Masuda T, Jitoe A, Nakatani N. Structures of cassumunin A, B, and C, new potent antioxidants from Zingiber cassumunar. Chemistry Lett 1993; 22(1): 189-92.
  10. Masuda T, Jitoe A, Mabry TJ. Isolation and structure determination of cassumunarins A, B, and C: new anti-inflammatory antioxidants from a tropical ginger, Zingiber cassumunar. J Am Oil Chem Soc 1995; 72(9): 1053-7.
  11. Jeenapongsa R, Yoovathaworn K, Sriwatanakul K, et al. Anti-inflammatory activity of DMPBD, a phenylbutanoid from Zingiber cassumunar. Annual research abstacts and bibliography of non-formal publications 1994, Mahidol University 1995; 22: 327.
  12. Han AR, Kim MS, Jeong YH, et al. Cyclooxygenase-2 inhibitory phenylbutenoids from the rhizomes of Zingiber cassumunar. Chem Pharm Bull 2005; 53(11): 1466-8.
  13. Laupattarakasem W, Kowsuwon W, Laupattarakasem P, et al. Efficacy of Zingiber cassumunar Roxb. (Plygesal) in the treatment of ankle sprain. Srinagarind Med J 1993; 8(3): 159-64.
  14. ศศิธร วสุวัต และคณะ. การวิจัยและพัฒนายารักษาอาการอักเสบชนิดใหม่ของไพล Zingiber cassumunar Roxb. การประชุมวิชาการเรื่องการพัฒนาเภสัชภัณฑ์จากสมุนไพรใช้ภายนอก. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 7-8 พ.ค. 2535.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น