วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บทความวิจัย "มะรุม พืชที่ทุกคนอยากรู้" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

มะรุม พืชที่ทุกคนอยากรู้

มะรุม, แคปซูลมะรุม, พิษมะรุม, capsule มะรุม, รักษามะเร็ง

คำเตือน : ผู้ป่วยที่ใช้มะรุมติดต่อเป็นเวลานานๆ ควรตรวจการทำงานของตับ เพราะพบว่าผู้ป่วยบางรายที่ใช้มะรุมติดต่อกันเป็นเวลานาน แล้วพบว่าเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้น
ระยะนี้มีข่าวในหน้า หนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการใช้มะรุมรักษาโรคต่างๆ และพบกระทู้ข่าวในInternet มากมาย รวมทั้งมีโทรศัพท์เข้ามาถามที่สำนักงานข้อมูลสมุนไพรอยู่บ่อยครั้ง ทางสำนักงานฯ จึงรวบรวมข้อมูลการวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และเป็นแนวทางที่จะช่วยในการตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์มะรุมต่างๆ เพื่อดูแลสุขภาพ ป้องกันหรือรักษาโรค ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบพืชสด แห้ง เป็นแคปซูล หรือเป็นสารสกัด

ในตำรา ยาพื้นบ้านใช้ใบมะรุมพอกแผลช่วยห้ามเลือด ทำให้นอนหลับ เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ และช่วยแก้ไข้ ใช้ส่วนดอกและผลเป็นยาบำรุง ขับปัสสาวะ และแก้ไข้ ใช้ส่วนเมล็ดบดพอกแก้ปวดตามข้อ และแก้ไข้

ใน ภาพรวมของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการวิจัยในระดับเซลล์และสัตว์ทดลองพบว่า มะรุมมีฤทธิ์ ที่น่าสนใจมากมาย เช่น ฤทธิ์ลดความดันโลหิต ต้านการเกิดเนื้องอก ต้านมะเร็ง ลดระดับคอเลสเตอรอล ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันตับอักเสบ ต้านออกซิเดชัน ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดระดับน้ำตาล และฤทธิ์ต้านการอักเสบ

มีการ ศึกษาในคนเพียงชิ้นเดียว โดยมีเพียงรายงานเกี่ยวกับการใช้ยาSeptillin ® ซึ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากพืช 6 ชนิด ได้แก่ มะรุม บอระเพ็ด จิตรลดา มะขามป้อม ชะเอมเทศ Balsamodendron mukul (พืชอินเดีย) และเปลือกหอยสังข์ โดยพบว่า Septillin ® ให้ผลดีทางคลินิกในเด็กซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับการติดเชื้อในระบบทาง เดินหายใจส่วนบน และการติดเชื้อที่ผิวหนัง

สำหรับงานวิจัยที่น่าสนใจ ในสัตว์ทดลองมีโดยย่อดังนี้
ฤทธิ์ลดความดัน โลหิต
สารสกัด น้ำและเอทานอลของใบมะรุม สารสกัดเอทานอลของผลและฝัก สารในกลุ่ม glycosides ใน สารสกัดเมทานอลของฝักแห้งและเมล็ด แสดงฤทธิ์ลดความดันโลหิตในสุนัขและหนูแรท
ฤทธิ์ต้านการเกิด เนื้องอกและฤทธิ์ต้านมะเร็ง
สาร สำคัญในกลุ่ม thiocarbamate จากใบ สารสกัดเอทานอลของเมล็ด แสดงฤทธิ์ทั้งยับยั้งการเจริญเติบโต และทำลายเซลล์มะเร็ง เมื่อป้อนสารสกัดของผลและฝัก ขนาด 5 มก./กก. น้ำหนักตัว มีผลลดจำนวนหนูเม้าส์ที่เป็นมะเร็งผิวหนังได้
ฤทธิ์ลดระดับคอเล สเตอรอล
สารสกัดน้ำของส่วนใบ มีผลลดระดับคอเลสเตอรอลและลดการเกิด plaque ในหลอดเลือดของหนูแรทและกระต่ายซึ่งได้รับอาหารชนิดที่มีไขมันสูง การทดสอบโดยให้กระต่ายที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงและกระต่ายปกติ โดยให้กินผลมะรุมขนาด 200 มก./กก. น้ำหนักตัว ต่อวัน นาน 120 วัน เปรียบเทียบกับยาลดไขมันโลวาสแตทิน 6 มก./กก. น้ำหนักตัว ต่อวัน และให้อาหารไขมันมาก พบว่ามีผลลดระดับคอเลสเตอรอล, phospholipids, triglycerides, low density lipoprotein (LDL), very low density lipoprotein (VLDL), อัตราส่วนระหว่างคอเลสเตอรอลและ phospholipids และ atherogenic index ในกระต่ายกลุ่มแรกได้
ฤทธิ์ต้านการเกิด แผลในกระเพาะอาหาร
สารสกัด เมทานอลของใบ และสารสกัดเมทานอลจากส่วนดอก สามารถยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูแรท ซึ่งถูกเหนี่ยวนำโดยแอสไพรินได้ ในขณะที่สารสกัดน้ำจากใบมีผลป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วย
ฤทธิ์ป้องกันตับ อักเสบ
สารสกัด80% เอ ทานอลจากใบ สารสกัดน้ำและสารสกัดเอทานอลจากดอก มีฤทธิ์ป้องกันการทำลายเซลล์ตับหนูแรทที่ได้รับ acetaminophen (ยาพาราเซตามอล) และสารสกัดน้ำจากส่วนรากแสดงฤทธิ์ป้องกันการทำลายเซลล์ตับหนูแรทจากการ เหนี่ยวนำโดยยาไรแฟมพิซิน
ฤทธิ์ต้าน ออกซิเดชัน
สารสกัด น้ำ สารสกัด 80% เมทานอล และสารสกัด 70% เอ ทานอลจากส่วนใบ ผงแห้งบดหยาบและสารสกัดน้ำจากเมล็ด และสารในกลุ่ม phenol จาก ส่วนราก สามารถต้านและกำจัดอนุมูลอิสระได้
ฤทธิ์ต้านเชื้อ แบคทีเรีย
น้ำ คั้นสดของใบ สารประกอบคล้ายpterygospermin ของดอก สารสกัดอะซีโตนและสารสกัดเอทานอลจากเมล็ด สารสกัดน้ำจากเมล็ด น้ำคั้นจากเปลือกต้น สารสกัดเอทานอลของเปลือกราก และสาร athomin จากเปลือกราก มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด นอกจากนี้ยังมีการใช้สารสกัดน้ำมันจากเมล็ด ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ กับตา โดยพบว่าใช้ได้ดีกับ pyodermia ในหนูเมาส์ ที่มีสาเหตุมาจาก Staphylococcus aureus
ฤทธิ์ลดระดับ น้ำตาล
ผงใบ แห้ง สารสกัด 95% เอทานอล และเถ้าจากเปลือกต้น มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูแรทปกติ และหนูที่เป็นเบาหวาน ส่วนสารสกัดเมทานอลจากเปลือกรากแสดงฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในหนูเม้าส์
ฤทธิ์ต้านการ อักเสบ
ชาชง น้ำร้อน และสารสกัดเมทานอลจากราก มีฤทธิ์ยับยั้งอาการบวมที่อุ้งเท้าหลังของหนูแรทและหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยว นำด้วยคาราจีแนน ในขณะที่เมล็ดแก่สีเขียว สารสกัดเอทานอลจากเมล็ดแห้ง และสารสกัดเอทานอลจากเมล็ด มีผลลดการอักเสบของทางเดินหายใจในหนูตะเภา ซึ่งยืนยันถึงการใช้มะรุมในทางพื้นบ้านเพื่อบำบัดอาการผิดปกติจากภูมิแพ้ เช่น หอบหืด สารสกัดเอทานอลจากเมล็ด สามารถลดการบวมของอุ้งเท้าบริเวณข้อของหนูแรท และพบว่าสารสกัดมะรุมมีผลลด oxidative stress ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วย
ความ เป็นพิษ
มีการ รายงานความเป็นพิษของมะรุมในระดับเซลล์และในสัตว์ทดลองว่า
 สารสำคัญ4(alpha-L-rhamnosyloxy) phenylacetonitrile จากเมล็ด แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์ใน Micronucleus test
 สารสกัดน้ำจากใบ หรือ 90% เอ ทานอล ในขนาด 175 มก./กก. ของน้ำหนักแห้ง เมื่อป้อนให้หนูแรทที่มีการผสมพันธุ์ สามารถทำให้เกิดการแท้งได้
 สารสกัดน้ำของรากขนาด 200 มก./กก.น้ำหนักตัว เมื่อให้กับหนูแรท จะเหนี่ยวนำให้เกิดทารกฝ่อ (foetal resorption) ในการตั้งครรภ์ระยะสุดท้าย
 สารสกัดเมล็ดด้วย0.5 M borate buffer มีผลทำให้เม็ดเลือดแดงของกระต่ายรวมตัวกัน
เมื่อให้หนูแรทกินผงของเมล็ดดิบที่แก่ของมะรุม โดยไม่จำกัดจำนวนเป็นเวลา 5 วัน พบว่าทำให้ความอยากอาหาร การเจริญเติบโตและการใช้โปรตีนลดลง ขนาดของกระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับ ตับอ่อน ไต หัวใจ และตตตสนวสรผเดกฟปปปอปปปอดใหญ่ขึ้น ในขณะที่ต่อมไทมัส และม้ามมีลักษณะฝ่อลง โดยเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีไข่ขาวเป็นส่วนประกอบ
การทดสอบความเป็นพิษโดยให้หนูเม้าส์กินส่วนราก หรือฉีดสารสกัดไม่ระบุชนิดตัวทำละลายเข้าใต้ผิวหนัง ในขนาด 10 ก./กก. น้ำหนักตัว ไม่พบความเป็นพิษ

          การทดลองในสัตว์เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่มีประโยชน์เพื่อการทำวิจัยต่อยอดไป ยังการทดลองในมนุษย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตัวทำละลายที่นักวิจัยใช้ในการสกัดจะมีทั้งน้ำ และแอลกอฮอล์ เพื่อให้สะดวกต่อการป้อนสัตว์ทดลอง ซึ่งข้อมูลข้างต้นเป็นความรู้ที่จะทำให้สามารถหาส่วนสกัดที่มีสารสำคัญได้ หากจะรับประทานใบ เนื้อในฝัก หรือดอกมะรุม ซึ่งเราใช้เป็นอาหารมานานแล้วเพื่อการรักษาโรค ก็อาจทำได้แต่อย่าหวังผลมากนัก และไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก หรือติดต่อกันนานเกินไป ซึ่งอาจมีการสะสมสารบางอย่างและอาจเป็นพิษได้ และจากรายงานความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง ซึ่งพบว่าทำให้เกิดการแท้ง ดังนั้นควรระมัดระวังการใช้ส่วนต่างๆ ของมะรุมในสตรีมีครรภ์

บทความ "ย่านาง อาหารที่เป็นยา" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ย่านาง ...อาหารที่เป็นยา

ย่านาง, ประโยชน์ของย่านาง

ย่านางนับว่าเป็นผักที่มีประโยชน์อีกชนิดหนึ่ง มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ใช้ในการประกอบอาหารพื้นบ้านไทยหลายๆ ตำรับ ในใบย่านางมีวิตามินเอและซีสูง นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารอาหารสำคัญอื่นๆ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ไฟเบอร์ แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไทอะมีน ไรโบฟลาวิน และไนอะซีน สำหรับสรรพคุณในทางยา ย่านางถือเป็นยาเย็น มีความโดดเด่นด้านการดับพิษและลดไข้ โดยรากใช้แก้ไข้ทุกชนิด เช่น ไข้พิษ ไข้เหนือ ไข้หัด สุกใส ไข้กาฬ ขับกระทุ้งพิษไข้ ถอนพิษผิดสำแดง และแก้เบื่อเมา ส่วนใบและเถา จะใช้แก้ไข้ ลดความร้อน และแก้พิษตานซาง รากย่านางเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของตำรับยาเบญจโลกวิเชียร หรือยา5 ราก หรือแก้วห้าดวง ซึ่งเป็นตำรับยาแก้ไข้ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ในบัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ร่วมกับรากชิงชี่ รากท้าวยายหม่อม รากคนทา และรากมะเดื่อชุมพร
          เมื่อศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมี ในรากย่านางส่วนใหญ่เป็นอัลคาลอยด์ในกลุ่ม isoquinoline ในใบประกอบด้วยสารโพลีแซคคาไรด์ สารโพลีฟีนอล แคลเซียมออกซาเลท และอัลคาลอยด์กลุ่ม isoquinoline สำหรับการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของย่านาง ยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการทดลองในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ยังไม่พบรายงานการวิจัยในคน โดยพบว่าย่านางมีฤทธิ์ลดไข้ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum แก้ปวด ลดความดันโลหิต ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านการแพ้ ลดการหดเกร็งของลำไส้ ต้านการเจิญของเซลล์มะเร็ง ยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase และมีฤทธิ์อย่างอ่อนๆ ในการต้านอนุมูลอิสระ
การศึกษาด้านความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง พบว่าสารสกัดน้ำจากทั้งต้นและสารสกัด 50%  เอทานอลจากใบไม่เป็นพิษต่อหนูแรท แต่การป้อนรากย่านางในขนาดสูง มีความเป็นพิษทำให้สัตว์ทดลองตาย
จะเห็นว่าย่านางเป็นสมุนไพรในครัวเรือนอีกชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ ปัจจุบันมีการแนะนำการใช้น้ำคั้นจากใบย่านางดื่มเพื่อปรับสมดุลของร่างกาย โดยนักวิชาการสาธารณสุขด้านการแพทย์ทางเลือก รวมทั้งมีการรวบรวมประสบการณ์การใช้น้ำคั้นจากใบย่านางในการรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ มาเผยแพร่ แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของย่านางยังมีไม่มากนัก ยังไม่พบรายงานการศึกษาทางคลินิก รวมทั้งข้อมูลด้านความเป็นพิษในคน ดังนั้นการใช้ย่านางรักษาโรคอื่นๆ นอกเหนือจากแก้ไข้ซึ่งมีประวัติการใช้มาเนิ่นนานแล้ว จึงควรระมัดระวังและมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการใช้ในการรักษาโรค เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้

บทความวิจัย "รางจืด สมุนไพรแก้พิษและล้างพิษ" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รางจืด สมุนไพรแก้พิษและล้างพิษ

 รางจืด,สมุนไพรแก้พิษ,สมุนไพรล้างพิษ

ช่วงนี้มีข่าวคราวถึงสมุนไพรที่ชื่อ “รางจืด” กันมาก ภาครัฐมีความพยายามที่จะนำศักยภาพของภูมิปัญญาไทยมาปัดฝุ่น และใช้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาช่วยในการขับเคลื่อนสมุนไพรชนิดนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยและมนุษยชาติ วันนี้สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะรายงานให้ท่านได้เห็นภาพของสมุนไพร “รางจืด” ชัดเจนขึ้น
รางจืดมีประวัติในการใช้ล้างพิษในร่างกาย แก้อาการแพ้ผื่นคัน และโรคผิวหนัง เช่น เริม ว่ากันว่าชาวบ้านจะกินน้ำคั้นใบหรือรากรางจืดก่อนที่จะไป “แข่งพนันดื่มเหล้าทนไม่เมา”และได้ผลดี เวลารับประทานของแสลง แล้วปวดท้อง ท้องเสีย ที่เรียกว่าผิดสำแดง ก็จะใช้ใบรางจืดเช่นกัน ทั้งยามเผอิญหรือตั้งใจกินสารพิษ ก็ใช้รางจืดแก้พิษได้ มีการวิจัยในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ชัดเจน
พ.ศ. 2521 นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นกลุ่มแรกที่ทดลองป้อนผงรากรางจืดให้หนูทดลองก่อนให้น้ำยาสตริกนินแต่พบว่าไม่ได้ผล หนูชักและตาย แต่ถ้าผสมกับน้ำยาสตริกนินก่อนป้อน พบว่าหนูทดลองไม่เป็นอะไร แสดงว่าผงรากรางจืดสามารถดูดซับสารพิษชนิดนี้ไว้
พ.ศ. 2523 อาจารย์พาณี เตชะเสนและคณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้น้ำคั้นใบรางจืดป้อนหนูทดลองที่กินยาฆ่าแมลง“โฟลิดอล”พบว่าแก้พิษได้ ลดอัตราการตายลงจาก 56% เหลือเพียง 5% เท่านั้น ในขณะที่วิธีการฉีดกลับไม่ได้ผล
พ.ศ. 2551 สุชาสินี คงกระพันธ์ ใช้สารสกัดแห้งใบรางจืดป้อนหนูทดลองที่ได้รับยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกนโนฟอสเฟตชื่อมาราไธออนพบว่าช่วยชีวิตได้ 30%
พ.ศ. 2553 จิตบรรจง ตั้งปอง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พบว่าสารประกอบในใบรางจืดช่วยป้องกันการตายของเซลล์ประสาทของหนูทดลองที่ได้รับพิษจากสารตะกั่ว จึงสามารถป้องกันสูญเสียการเรียนรู้และความจำได้อย่างมีนัยสำคัญ
มีการวิจัยเรื่องใบรางจืดสามารถปกป้องตับ ซึ่งเป็นอวัยวะที่กำจัดสารพิษในร่างกาย ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยรักษาชีวิตของผู้ที่ได้รับสารพิษ พ.ศ. 2543 รายงานวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าสารสกัดแห้งของน้ำใบรางจืดน่าจะมีผลลดความเป็นพิษของตับจากแอลกอฮอล์ได้ พ.ศ. 2548 พรเพ็ญ เปรมโยธิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานผลว่าสารสกัดน้ำรางจืดแสดงฤทธิ์ดังกล่าว ทั้งในหลอดทดลองและในหนูทดลอง
นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัดน้ำใบรางจืดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วย
ถ้าจะใช้สมุนไพร ควรพิจารณาความเป็นพิษด้วย สำหรับใบรางจืดมีการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันที่ป้อนหนูทดลองครั้งเดียว ทั้งขนาดปกติและขนาดสูง ไม่พบความผิดปกติใด ๆ และป้อนติดต่อกัน 28 วันขนาด 500 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ไม่พบอาการผิดปกติเช่นกัน แต่อาจทำให้น้ำหนัก ตับ ไต สูงกว่ากลุ่มควบคุม  ค่าชีวเคมีที่เกี่ยวกับไตสูงขึ้น และAST สูงขึ้น จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง และไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
สำหรับการทดลองในคน ยังมีไม่มากนัก นพ. ปัญญา อิทธิธรรม  ทดลองเก็บข้อมูลการใช้สมุนไพรรางจืดในเกษตรกรซึ่งสัมผัสสารฆ่าแมลง ทั้งกลุ่มไม่ปลอดภัย กลุ่มเสี่ยง กลุ่มปลอดภัย โดยตรวจจากระดับเอนไซม์ในร่างกายที่เพิ่มขึ้นเมื่อได้รับสารพิษนี้   พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มที่กินและไม่ได้กินสารสกัดน้ำรางจืด แต่ยังสรุปไม่ได้ชัดเจนเพราะมีปัจจัยที่แตกต่างของพื้นฐานร่างกายอื่นๆ ของอาสาสมัคร เช่น ความแข็งแรง อายุเป็นต้น
เดือนกุมภาพันธ์ 2551 มีข่าวเรื่องน้ำคั้นใบรางจืดช่วยชีวิตผู้ป่วยอาการหนักมากจากพิษแมงดาทะเล ซึ่งได้รับการยืนยันจากแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพรเขตอุดมศักดิ์แสดงว่ารางจืดน่าจะมีสรรพคุณในการกำจัดพิษในร่างกายตามที่ตำรายาไทยระบุไว้
อย่างไรก็ตามการทดลองหากลไกที่สารประกอบในใบรางจืดกำจัดพิษและทดลองในคน รวมทั้งการทดสอบพิษระยะยาวที่ให้หนูทดลองกินติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน มีความสำคัญต่อการนำมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจังและถูกต้อง ทั้งต้องให้ชัดเจนว่าสามารถแก้พิษอะไรได้บ้าง ในขนาดเท่าไร  และคุณภาพของใบรางจืดควรเป็นแบบใด เพราะในพื้นที่ปลูกและกระบวนการปลูกอาจก่อให้เกิดโลหะหนักในวัตถุดิบที่เกินมาตรฐาน เช่น แคดเมียมเป็นต้น การที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสนใจและจะจัดสรรงบประมาณพุ่งเป้าให้วิจัยสมุนไพรรางจืดเป็นนิมิตรหมายที่ดี เพราะไม่มีเงินทำวิจัย นักวิทยาศาสตร์มีแต่สมองก็ทำอะไรไม่ได้

บทความวิจัย "ชะเอมเทศ กับความดันโลหิตสูง" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ชะเอมเทศ กับความดันโลหิตสูง

ชะเอมเทศ, ความดันโลหิตสูง, รักษาความดันโลหิต, โรคความดัน

ชะเอมเทศ(Glycyrrhiza glabraL.) หรือ Licorice เป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย สรรพคุณพื้นบ้านใช้รากเป็นยาขับเสมหะทำให้ชุ่มคอ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว แก้คอแห้ง ขับลม แก้คัน บำรุงร่างกาย ขับเลือดเน่า และเจริญซึ่งหทัยวาตให้สดชื่นเนื่องจากรากของชะเอมเทศพบสารสำคัญคือสาร glycyrrhizin (หรือ glycyrrhizic acid หรือ glycyrrhizinic acid) และ 24-hydroxyglyrrhizin ซึ่งสารเหล่านี้ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 50 - 100 เท่า รากชะเอมจึงถูกนำไปแต่งรสอาหาร ปรุงยาสมุนไพร หรือใช้แต่งรสหวานในขนมและลูกอม
          มีรายงานว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์จากชะเอมเทศติดต่อกันนานๆ มีผลต่อความดันโลหิต โดยพบรายงานในหญิงอายุ 31 ปีที่รับประทานฝรั่งจิ้มผงชะเอมเทศ (asam boi) ครั้งละน้อยๆ จนถึง 3 ช้อนโต๊ะ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันนาน 6 สัปดาห์ ชายสูงอายุวัย 70 ปี ที่รับประทานลูกอมชะเอมเทศวันละ 60 - 100 ก. (เม็ดละ 2.5 ก. พบ glycyrrhizic acid 0.3%ต่อเม็ด) ทุกวันเป็นเวลา 4 - 5 ปี หญิงสูงอายุที่รับประทานยาระบายที่มีส่วนผสมของชะเอมเทศ วันละ 2 ครั้ง (ได้รับ glycyrrhizic acid 94 มก./วัน) และหญิง 2 รายที่รับประทานหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของชะเอมเทศติดต่อกันทุกวัน (รับประทาน glycyrrhizic acidเฉลี่ยวันละ 50 มก.) ทุกรายถูกนำส่งโรงพยาบาลเนื่องจากมีค่าความดันโลหิตสูง (190 - 200/120 มม.ปรอท) ร่วมกับมีอาการปวดหัว อ่อนแรงตามข้อต่อ และเมื่อตรวจวัดค่าชีวเคมีในเลือดพบว่า ทุกรายมีปริมาณโพแทสเซียมต่ำ (hypokalemia) เกิดภาวะ hypermineralocotiodism (ทำให้ระดับ aldosterone เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ร่างกายกักเก็บโซเดียมไว้มากขึ้น จนร่างกายมีน้ำเกิน เกิดอาการบวมและเพิ่มความดันโลหิต) และมีรายงานในอาสาสมัคร 37 คน ที่รับประทานยาสมุนไพรในประเทศญี่ปุ่น Shakuyaku-kanzo-To(SKT) หรือ Shosaiko-To (SST) ซึ่งส่วนผสมของชะเอมเทศขนาด 6 ก. และ 1.5 ก. ตามลำดับ พบว่ากลุ่มที่รับประทาน SKT เกิดภาวะ pseudoaldosteronism (ภาวะที่มีปริมาณฮอร์โมน aldoterone สูงกว่าปกติ) เฉลี่ยในวันที่ 35 หลังจากรับประทาน ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับ SSTผลจะแสดงออกในวันที่ 450 และเมื่อเทียบกับการรับประทานผลิตภัณฑ์อื่นจากชะเอมเทศที่มี glycyrrhizinพบว่าจะมีผลในวันที่ 210 โดยพบความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณ glycyrrhizinว่ามีผลต่อการเกิด pseudoaldosteronismอย่างมีนัยสำคัญ และพบว่ากว่า 80% ของผู้ที่รับประทาน SKT ติดต่อกันนาน 30 วัน มีผลโพแทสเซียมในเลือดต่ำเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี จึงอาจกล่าวได้ว่าผู้สูงอายุที่รับประทาน SKT เกิน 30 วัน เสี่ยงต่อการเกิดโพแทสเซียมในเลือดต่ำได้
          การทดลองในอาสาสมัครสุขภาพดี 24 คน แบ่งเป็น 4 กลุ่มให้ได้รับสารสกัดน้ำจากรากชะเอมเทศในปริมาณ glycyrrhizin ขนาด 108, 217, 308 และ 814 มก. ตามลำดับ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าไม่พบอาการข้างเคียงใดๆ ในอาสาสมัครกลุ่มที่ 1 และ 2 แต่พบว่าอาสาสมัครที่ได้รับ glycyrrhizinขนาด 814 มก. (กลุ่มที่ 4) ปริมาณโพแทสเซียมในเลือดลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์แรกของการทดลอง และมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าปริมาณ rennin และ aldosterone ในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่ 3 และ 4
          จากรายงานและผลการทดลองข้างต้นแสดงให้เห็นว่าควรระมัดระวังการรับประทานชะเอมเทศในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะโพแทสเซียมต่ำ และมีคำเตือนว่าไม่ควรใช้ชะเอมเทศในขนาดที่มากกว่า 50ก./วัน เกินกว่า 6 สัปดาห์ จะทำให้เกิดการสะสมน้ำในร่างกาย เกิดการบวมที่มือและเท้า สารโซเดียมถูกขับได้น้อยลง ขณะที่สารโพแทสเซียมถูกขับมากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และไม่ควรใช้ชะเอมเทศร่วมกับยาขับปัสสาวะ (กลุ่ม thiazide)หรือยากลุ่ม cardiac glycosides เพราะชะเอมเทศจะมีผลทำให้สารโพแทสเซียมถูกขับออกมาขึ้นและหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ spironolactone หรือ amilorideเพราะจะทำให้ประสิทธิผลการรักษาโรคความดันโลหิตลดลง

บทความวิจัย "มะระขี้นก" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

มะระขี้นก

มะระขี้นก,เบาหวาน,อินซูลิน

รองศาสตราจารย์ ดร.วีณา จิรัจฉริยากูล
ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 
          มะระขี้นก (Momordica charantia L.) เป็นสมุนไพรที่ใช้กันมานานนับพันปี ในเอเซีย อาฟริกา และละตินอเมริกา อายุรเวทใช้ผลมะระรักษาเบาหวาน โรคตับ บรรเทาอาการโรคเก๊าต์และข้ออักเสบ ตำรายาไทยใช้ใบมะระในตำรับยาเขียวลดไข้ รากในตำรับยาแก้โลหิตเป็นพิษ และโรคตับ
          งานวิจัยสมุนไพรมะระได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ค.ศ. 1962 ซึ่ง Lotlika และ Rao ได้ค้นพบชาแรนตินในผลมะระ ที่แสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลอง ในปี 1965 Sucrow ได้พิสูจน์โครงสร้างเคมีของชาแรนติน พบว่าเป็นสารผสมของ sitosteryl- และ 5,25-stigmastadien-3-beta-ol-D-glucosides ในอัตราส่วน 1:1 ปี 1977 Baldwa และคณะ ได้แยกสารคล้ายอินซูลินจากผลมะระและมีฤทธิ์ลดน้ำตาล ในปี 1981 Khana และคณะได้พิสูจน์โครงสร้างของสารคล้ายอินซูลิน พบว่าเป็นโพลีเปปไทด์ที่มีน้ำหนักโมเลกุล 11,000 ดาลตัน และมีกรดอะมิโน 166 residues เรียกสารนี้ว่า โพลีเปปไทด์ พี สารขมกลุ่มคิวเคอร์บิตาซินซึ่งเป็น chemotaxonomic character ของพืชวงศ์ Cucurbitaceae คิวเคอร์บิตาซินในมะระ คือ momordicosides, momordicins, karaviloside K1 และ charantoside มีรายงานว่าสารขมดังกล่าวมีฤทธิ์ลดน้ำตาล
          ในมะระขี้นกมีสารหลายชนิดที่ต้านเบาหวาน และมีหลายกลไกที่ออกฤทธิ์ต้านเบาหวาน ได้แก่ เสริมการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ เสริมการเผาผลาญน้ำตาล เพิ่มความไวต่ออินซูลิน เพิ่มความทนต่อกลูโคส (glucose tolerance) นอกจากนี้ยังยับยั้งการหลั่งกลูโคสในลำไส้เล็ก และยับยั้งเอนไซม์กลูโคไซเดส
          น้ำคั้นจากผลมะระขี้นกแสดงฤทธิ์ต้านเบาหวานในกระต่ายและหนูขาว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามะระสามารถชะลอความผิดปกติของไต การเกิดต้อกระจก การเสื่อมของเส้นประสาทซึ่งเป็นผลมาจากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน หรือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลเลือดให้ปกติ
          การศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (8 คน) พบว่าผู้ป่วยทนต่อกลูโคสได้ดีขึ้น ลดระดับน้ำตาลขณะอิ่ม และลดความถี่ของการถ่ายปัสสาวะ จึงขอแนะนำผู้ป่วยเบาหวานบริโภคมะระขี้นกเป็นอาหาร หรือในรูปน้ำคั้นเป็นอาหารเสริม เพื่อช่วยรักษาระดับความดันเลือดให้ปกติ และชะลออาการต่างๆที่เป็นผลเสียจากโรคเบาหวานที่เป็นมานาน
          มะระขี้นก (สีเขียว) มีคุณค่าทางอาหารเพราะมีวิตามินเอ (2,924 IU) ไนอะซิน (190 มก./100 ก) และมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ
          การเตรียมน้ำคั้นจากผลมะระขี้นก ขนาดที่ใช้ต่อวัน ผลสด 100 ก. นำมาผ่าครึ่ง ใช้ช้อนกาแฟขูดไส้ในและเมล็ดออก หั่นเนื้อผลเป็นชิ้นเล็กขนาดกว้าง 1 ซม. ใส่ในเครื่องปั่นแยกกาก จะได้น้ำมะระประมาณ 40 มล. ดื่มหลังอาหารเช้าหรือเย็น

บทความวิจัย "แป๊ะตำปึง" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แป๊ะตำปึง

ฟลาโวนอยด์,ต้านอักเสบ ,แก้ฟกบวม แก้คัน แก้พิษอักเสบ แก้พิษแมลงกัดต่อย งูสวัด เริม

รองศาสตราจารย์ ดร.วีณา จิรัจฉริยากูล
ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 
          แป๊ะตำปึง มีชื่อวิทยาศาสตร์ Gynura procumbens (Lour.) Merr. เป็นยาเย็น ตำรายาไทยและจีนใช้ใบสดตำละเอียดผสมสุราพอกปิดฝี แก้ฟกบวม แก้คัน แก้พิษอักเสบ แก้พิษแมลงกัดต่อย งูสวัด เริม
          งานวิจัยสมุนไพรแป๊ะตำปึงที่ได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 พบว่า สารสกัดอัลกอฮอล์จากส่วนเหนือดินมีคุณสมบัติต้านอักเสบในสัตว์ทดลอง และพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์หลายชนิด ได้แก่ kaempferol ในรูปอิสระและกลัยโคไซด์ quercetin ในรูปอิสระและกลัยโคไซด์ ฟลาโวนอยด์เป็นสารที่อาจแสดงฤทธิ์ต้านอักเสบ ได้มีการทดลองใช้เจลต้านอักเสบที่มีสารสกัดแป๊ะตำปึง 2.5% เป็นตัวยา ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด ซึ่งมักจะมีอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบ (chemotherapy related mucositis) พบว่าสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของอาการได้อย่างมีนัยสำคัญ สมุนไพรแป๊ะตำปึงยังมีฤทธิ์ต้านไวรัสเริมในหลอดทดลอง ซึ่งสารกลุ่มที่แสดงฤทธิ์ดังกล่าว ได้แก่ กลุ่ม dicaffeoyl quinic acids, sitosteryl- และ stigmasteryl glucosides และ 1, 2-bis-dodecanoyl-3-alpha-D-glucopyranosyl-sn-glycerol ได้มีการทดลองใช้เจลต้านอักเสบที่มีสารสกัดแป๊ะตำปึงเป็นตัวยาในผู้ป่วยที่เป็นเริมที่ริมฝีปาก พบว่า ปริมาณไวรัสมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับยาหลอก้

บทความวิจัย "ว่านชักมดลูก" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ว่านชักมดลูก

ว่านชักมดลูก,เอสโตรเจน,ปวดประจำเดือน,อาหารไม่ย่อย,ธาตุพิการ,ตกขาว,วัยทอง

รองศาสตราจารย์ พร้อมจิต ศรลัมพ์
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          ว่านชักมดลูก เป็นพืชที่มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน อยู่ในวงศ์ขิง กลุ่มเดียวกับขมิ้นชัน การสุ่มซื้อว่านชักมดลูกในตลาดสมุนไพร พบว่าเป็นเหง้าที่มีลักษณะต่างกันอยู่ กลุ่มที่พบมากจะเรียกกันว่า ว่านชักมดลูกตัวเมีย (Curcuma comosa) และ ว่านชักมดลูกตัวผู้ (Curcuma latifolia)
          ว่านชักมดลูกตัวเมีย ขอเรียกสั้น ๆ ในบทความนี้ว่า ว่านตัวเมีย ลักษณะหัวกลมรีตามแนวตั้ง แขนงสั้น
 
          ว่านชักมดลูกตัวผู้ (Curcuma latifolia) หรือว่านตัวผู้ มีลักษณะต่างไปเล็กน้อย คือหัวใต้ดินจะกลมแป้นกว่า แขนงข้างจะยาวกว่า แต่บางครั้งแขนงข้างถูกตัดออกไป หรือหักไป ทำให้จำแนกไม่ชัดเจนนัก ผู้ไม่คุ้นเคยอาจจำแนกไม่ได้ และมักมีปัญหาในการซื้อขาย
 
          หากผ่าดูเนื้อในเปรียบเทียบกัน ว่านตัวเมีย จะมีสีขาวนวล วงในมีสีชมพูเรื่อ ๆ ทิ้งไว้สีชมพูจะเข้มขึ้น ส่วนเนื้อในว่านตัวผู้มีสีคล้ายกัน แต่วงในออกสีเขียวแกมเทาอ่อน ๆ ทิ้งไว้จะออกสีชมพูเข้มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน แต่หากผู้ซื้อไม่มีตัวอย่างเทียบเคียงจะจำแนกยาก
          จากการสำรวจและตรวจสอบพันธุกรรมดีเอ็นเอ ระบุว่าว่านชักมดลูกมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์มากกว่า 2 ชนิด แต่ที่มีการวิจัยตรวจสอบคุณภาพชัดเจน มีเพียงสองชนิดข้างต้น
          อนึ่ง พบว่าพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย ไม่พบปลูกในประเทศไทย และมีลักษณะคล้ายว่านชักมดลูกของไทย รวมทั้งมีสรรพคุณคล้ายกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma xanthorrhiza มีการวิจัยในต่างประเทศค่อนข้างมาก ทำให้มีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นผลวิจัยของว่านชักมดลูกของเรา พบว่ามีสารสำคัญคนละกลุ่มกัน ส่วนว่านชักมดลูกของเรามีการวิจัยอย่างเป็นระบบในสัตว์ทดลองโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวไทยล้วน
          สรรพคุณตามตำรายาไทย ใช้เหง้าว่านชักมดลูกรักษาอาการของสตรี เช่นประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน ตกขาว ขับน้ำคาวปลา แก้ธาตุพิการอาหารไม่ย่อย ริดสีดวงทวาร และไส้เลื่อน
          จากสรรพคุณดังกล่าว นักวิจัยตีความว่า ว่านชักมดลูกน่าจะมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงคือเอสโตรเจน จึงนำมาสู่งานวิจัยเพื่อพิสูจน์ ในการทดลองฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน สัตว์ทดลองใช้หนูแรตตัวเมียที่ตัดรังไข่ออกไป โดยมีกลุ่ม 1 หนูปกติ กลุ่ม 2 หนูตัดรังไข่ กลุ่ม 3 หนูตัดรังไข่ได้รับเอสโตรเจน กลุ่ม 4 หนูตัดรังไข่ได้รับว่านตัวเมีย และกลุ่ม 5 หนูตัดรังไข่ได้รับว่านตัวผู้ พบว่าว่านตัวเมียแสดงฤทธิ์ดังกล่าวจริง โดยทำให้มดลูกหนูทดลองโตใกล้เคียงกับกลุ่ม 1 และ 3 สารออกฤทธิ์เป็นกลุ่มไดแอริลเฮปตานอยด์ ซึ่งมีโครงสร้างไม่หมือนเอสโตรเจน เราเรียกสารสำคัญของว่านตัวเมีย ว่าเป็นกลุ่มไฟโตเอสโตรเจน แปลว่าเป็นสารที่ได้จากพืชในธรรมชาติที่ออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจนนั่นเอง ส่วนกลุ่ม 2 และ 5 มดลูกหนูทดลองเล็กลงอย่างชัดเจน แสดงว่าว่านตัวผู้ไม่มีฤทธิ์ดังกล่าวเลย จึงไม่นำมาทดลองต่อไป ดังนั้นการเลือกวัตถุดิบว่านชักมดลูกที่ถูกต้องเพื่อใช้ทำยาแผนไทยจึงมีความสำคัญต่อสรรพคุณที่ต้องการ
          วงการแพทย์ยอมรับว่า สารกลุ่มไฟโตเอสโตรเจนมีศักยภาพสำหรับรักษาสุขภาพของสตรีวัยทอง การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในสตรีวัยทอง ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวามและแสบร้อนผิวหนัง หงุดหงิด ไขมันในเลือดสูง ผนังหลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น และที่สำคัญคือกระดูกพรุน ไฟโตเอสโตรเจนมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นและต้านการอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของความเสื่อมและความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย และพัฒนาเป็นโรคเรื้อรัง รวมทั้งโรคมะเร็งของอวัยวะต่าง ๆ
          จากผลการวิจัยในสัตว์ทดลองและหลอดทดลองของนักวิจัยไทยพิสูจน์ว่า ว่านตัวเมียและสารกลุ่มไดแอริลเฮปตานอยด์ มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นเทียบเท่าไวตามินซี มีฤทธิ์ต้านการอักเสบซึ่งเป็นผลดีกับโรคในระบบประสาท นอกจากนั้นยังช่วยรักษาและซ่อมแซมระบบหลอดเลือดและหัวใจด้วย
          พบสารชื่อโฟราซิโตฟีโนนในว่านชักมดลูกที่แสดงฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งน้ำดี และเสริมให้มีการหลั่งกรดน้ำดีมากขึ้น จึงลดการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี สำหรับความเป็นพิษ มีการทดลองพิษเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลันในสัตว์ทดลอง พบว่าสารประกอบข้างต้นมีความเป็นพิษต่ำ น่าจะปลอดภัยถ้าจะพัฒนาเป็นยา
          สารสกัดด้วยเอทิลอะซิเตทช่วยให้การลำเลียงไขมันออกจากเนื้อเยื่อต่างๆ เข้าไปในตับและเสริมให้เกิดการขับโคเลสเตดรอลและกรดน้ำดีสู่ทางเดินอาหารและออกจากร่างกายพร้อมอุจจาระ
          ว่านชักมดลูกทำให้หลอดเลือดแข็งแรงขึ้นโดยต้านออกซิเดชั่นที่เกิดขึ้นที่ผนังหลอดเลือดแดง การทดลองในหนูที่ตัดรังไข่เลียนแบบสตรีวัยทอง และให้กินผงว่านชักมดลูก และ สารสกัดด้วยเฮกเซน พบว่าสามารถป้องกันอาการเยื่อบุผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจขาดความยืดหยุ่น ทั้งยังแสดงฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วย
          พบทั้งฤทธิ์ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนที่ทดลองในหนูที่ถูกตัดรังไข่ และกินสารสกัดว่านตัวเมียติดต่อกัน 5 สัปดาห์ พบว่าสามารถป้องกันการสูญเสียแคลเซียม รัษาระดับความหนาแน่นของมวลกระดูกได้เช่นเดียวกับกลุ่มหนูที่กินเอสโตรเจน และดีกว่าเอสโตรเจนตรงที่ทำให้ขนาดมดลูกของหนูทดลองโตขึ้นน้อยกว่า
          มีข้อมูลว่าสมุนไพรหลายชนิดทำให้ตับอักเสบ จึงนำว่านตัวเมียมาทดสอบในประเด็นนี้ พบว่าว่านตัวเมียแสดงฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับจากสารพิษคาร์บอนเตตร้าคลอไรด์ได้โดยกระตุ้นกลไกการล้างพิษและลดการสร้างสารเคมีที่เป็นพิษในร่างกาย
          เมื่อให้หนูขาวกินสารสกัดแอลกอฮอล์ของว่านตัวเมียล่วงหน้า 4 วัน ก่อนฉีดสารทำลายไตชื่อ ซิสพลาติน หลังจากนั้น 5 วัน ฆ่าหนูเก็บเลือดไปตรวจหาระดับ BUN และพลาสมาเครอาทินิน พร้อมกับตรวจสภาพเซลล์ไตในกล้องจุลทรรศน์ และตรวจหาระดับเอนซามย์ที่แสดงถึงการทำลายเซลล์ไตพบว่า สารสกัดว่านตัวเมียทำให้ระดับของค่าต่าง ๆ ที่ระบุข้างต้นลดลงเป็นปกติเมื่อเปรียบเทียบกับหนูขาวกลุ่มควบคุมที่ถูกฉีดสารพิษเท่านั้น สารออกฤทธิ์เป็นสารกลุ่มไดแอริลเฮปตานอยด์ ผ่านกลไกต้านออกซิเดชั่น
          เฉพาะการวิจัยฤทธิ์ปกป้องตับและไตเท่านั้น ที่ทำการทดลองในหนูตัวผู้
          จอประสาทตาเสื่อมเป็นโรคของคนวัยทอง พบในผู้สูงอายุ (50 ขึ้นไป) ทำให้สูญเสียการมองเห็น สารต้านอนุมูลอิสระเป็นกระบวนการธรรมชาติที่จะป้องกันเซลล์เรตินาของตาจากการถูกทำลายโดยสภาพเครียดจากอนุมูลอิสระ และถ้าอยู่ในสภาพนี้ต่อเนื่อง จะเกิดความเสียหายต่อสารสีในเซลล์เรตินา ทำให้จอประสาทตาเสื่อม ในหลอดทดลอง สารกลุ่มไดแอริลเฮปตานอยด์ชนิดหนึ่งที่แยกได้จากว่านตัวเมียป้องกันเซลล์เรตินาจากความเสียหายดังกล่าวได้ด้วยกระบวน การต้านออกซิเดชั่น
          สำหรับโรคสมองเสื่อม ทดสอบการเรียนรู้และความจำของหนูวิสต้าที่ตัดรังไข่ เปรียบเทียบผลของสารสกัดเฮกเซนของว่านตัวเมียกับเอสโตรเจน ทดสอบทุกระยะเวลา 30 วัน สรุปผลว่า เมื่อทดสอบถึงวันที่ 67 หนูที่ตัดรังไข่ความจำเสื่อมลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเทียบกับหนูปกติ กลุ่มที่กินสารสกัดว่านตัวเมียและกลุ่มที่ฉีด estrogen ยังมีความจำดีใกล้เคียงกัน สารสกัดในขนาดสูงประสิทธิผลยิ่งดีขึ้น
          สารประกอบจากว่านตัวเมียฆ่าเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (P388 leukemic cell) โดยการทำลายดีเอ็นเของเซลล์มะเร็ง
          ว่านชักมดลูกตัวเมียเป็นสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพสูงที่จะผลิตเป็นยาสำหรับสตรีวัยทอง เพราะสามารถป้องกันและรักษาครอบคลุมอาการที่สำคัญได้หมด ที่น่าสนใจคือผงว่านตัวเมียแสดงผลการทดลองดีพอ ๆ กับสารสกัด ทำให้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ง่ายและไม่ต้องลงทุนมากอย่างไรก็ตามเป็นการทดลองในสัตว์ทดลอง ซึ่งเป็นกระบวนการเบื้องต้น จากนี้ควรมีการทดสอบความเป็นพิษระยะยาว จัดทำแนวทางตรวจสอบคุณภาพให้ชัดเจนและแม่นยำ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีและทดสอบในมนุษย์ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ในเร็ววันนี้ น่าจะมีผลิตภัณฑ์ว่านชักมดลูกตัวเมียสำหรับสตรีวัยทอง ที่สำเร็จด้วยฝีมือนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย

บทความวิจัย (อันตรกิริยา (ยาตีกัน) ของว่านหางจระเข้กับยาแผนปัจจุบัน" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อันตรกิริยา (ยาตีกัน) ของว่านหางจระเข้กับยาแผนปัจจุบัน

ว่านหางจระเข้,ยาตีกัน

ณัฏฐณิชชา มหาวงษ์
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 
          ว่านหางจระเข้เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณมากมายและมีความปลอดภัยสูง จึงเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและมีผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบรวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งผู้ป่วยบางคนอาจรับประทานเป็นอาหารเสริมหรือเพื่อรักษาโรคร่วมกับยารักษาโรคแผนปัจจุบัน แต่จากรายงานในปัจจุบันพบว่าพืชสมุนไพรหลายชนิดเมื่อใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันอาจก่อให้เกิดอันตรกิริยา (interaction) ได้ นั้นคือเมื่อใช้ยาและสมุนไพรร่วมกันแล้ว ทำให้ยานั้นมีฤทธิ์ในการรักษาเพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยอันตรกิริยาที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลจากเอนไซม์ Cytochrome P450 (CYP) ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการเมตาบอลิซึมของยา ซึ่งเอนไซม์ CYP มีหลายไอโซฟอร์ม (isoform) เช่น CYP1A1, CYP2D6, CYP2E1 และ CYP3A4 เป็นต้น และว่านหางจระเข้ก็มีรายงานเกี่ยวกับการทำงานของเอนไซม์ชนิดนี้ มีรายงานการศึกษาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบของว่านหางจระเข้ (น้ำว่านหางจระเข้และวุ้นว่านหางจระเข้) ต่อการเหนี่ยวนำและการยับยั้งการแสดงออกของโปรตีน CYP พบว่าน้ำว่านหางจระเข้ทำให้มีการ แสดงออกของโปรตีน CYP2C11, CYP2E1 และ CYP3A1 ใน microsome ของเซลล์ตับลดลง 50% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ในขณะที่วุ้นว่านห่างจระเข้ทำให้มีการแสดงออกของโปรตีน CYP2C1 ลดลง 50% และการแสดงออกของโปรตีน CYP1A2, CYP2E1 และ CYP3A1 เพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม บางรายงานแสดงให้เห็นว่าน้ำว่านหางจระเข้ทำให้มีระดับโปรตีน CYP1A2 และ CYP3A4 เพิ่มขึ้นในเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ LS180 ถึง 1.7 + 0.3 และ 1.8 + 0.4 เท่าของกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ยังมีการศึกษาสารสกัดจากน้ำว่านหางจระเข้ด้วยเอทานอลต่อการทำงาน ของเอนไซม์ CYP3A4 และ CYP2D6 จากคน (recombinant human CYP) พบว่าน้ำว่านหาง จระเข้สามารถยับยั้งเอนไซม์ CYP โดยมีความเข้มข้นที่สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 และ CYP2D6 ได้ 50% (IC50) เท่ากับ 8.35 + 0.72 และ 12.5 + 2.1 มก./มล. ตามลำดับ นอกจากนี้สารสกัดจากน้ำว่านหางจระเข้สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP ทั้งอาศัยและไม่อาศัย nicotinamide adenine dinucleotide phosphate (NADPH) แสดงให้เห็นถึงสารสกัดจากน้ำว่านหางจระเข้สามารถยับยั้งเอนไซม์ CYP3A4 และ CYP2D6 โดยผ่านกลไกที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาออกซิเดชันของ CYP ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากน้ำว่าน หางจระเข้มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP3A4 และ CYP2D6 ผ่านสองกลไก ในรายงานนี้ยังชี้แนะว่าน้ำ ว่านหางจระเข้ไม่รบกวนเมตาบอลิซึมของยาในคน เนื่องจากปริมาณที่รับประทานตามปกติจะทำให้มีว่านหางจระเข้ในเลือดน้อยกว่าค่า IC50 มาก อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังการทานยาพร้อมกับน้ำ ว่านหางจระเข้ เนื่องจากยังมีความคลุมเครือของข้อมูลว่าว่านหางจระเข้มีฤทธิ์กระตุ้นและ/หรือยับยั้งเอนไซม์ CYP และยังเกี่ยวข้องกับการทำงานของเอนไซม์ CYP ได้หลายไอโซฟอร์ม ซึ่งอาจส่งผลเมื่อใช้ทางคลินิก ทั้งนี้ยังต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

บทความวิจัย "แกงขี้เหล็ก อาหารที่ถูกลืม" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แกงขี้เหล็ก อาหารที่ถูกลืม

แกงขี้เหล็ก,ขี้เหล็ก

รองศาสตราจารย์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล
ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


          แกงขี้เหล็กเป็นอาหารที่จัดได้ว่าเข้าข่ายอาหารโบราณที่อีกไม่นาน คงมีเพียงภาพและคำบรรยายเก็บเป็นข้อมูลเท่านั้น คนที่รู้จักกินแกงขี้เหล็กในปัจจุบันนี้มักจะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ชีวิตไม่น้อยกว่า 40 ปี และส่วนใหญ่จะเป็นจังหวัดอื่น นอกกรุงเทพมหานคร เหตุที่ว่าการปรุงแกงขี้เหล็กมีกรรมวิธีที่ค่อนข้างยาก ต้องพิถีพิถัน จำได้ว่าเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ถ้าจะกินแกงขี้เหล็ก เราจะรอให้ขี้เหล็กแตกใบอ่อน และดอก ซึ่งต้องเก็บใบมารูด (หน้าที่ของลูก) เอาเฉพาะส่วนใบ หรือ ดอก หรือทั้งใบและดอก จากนั้นเอาไปต้ม เทน้ำทิ้ง บีบกากให้แห้ง แล้วต้มซ้ำ 2-3 ครั้ง จนจืด จึงเอาไปแกงได้ รสชาติของแกงขี้เหล็กนั้น เป็นที่ชื่นชอบเฉพาะหมู่ผู้สูงอายุเท่านั้น เด็กๆที่ทำหน้าที่รูดใบจึงค่อนข้างเบื่อหน่ายที่ต้องช่วยเตรียมแทบตาย แต่ไม่ชอบกิน แต่ก็แปลกนะ เมื่อเด็กๆเหล่านั้นรวมทั้งตัวผู้เขียนโตขึ้นเป็นผู้สูงอายุ กลับหันมาชอบกินแกงขี้เหล็กเหมือนคนรุ่นก่อนๆมา ยุคถัดมา ไม่ต้องเตรียมใบขี้เหล็กเองแล้ว เราจะเห็นใบขี้เหล็กต้ม วางขายในตลาดทั่วไป แต่ปี 2555 กลับไม่ค่อยพบเห็นใบขี้เหล็กต้ม หรือ แกงขี้เหล็ก จนน่าสงสัยว่าคนไทยเลิกกินแกงขี้เหล็กแล้วหรือ
          แกงขี้เหล็กคือหนึ่งในแกงกะทิที่สำคัญในครัวไทย มีรสชาติหวาน มัน เผ็ดเล็กน้อย เนื้อสัตว์ ที่ใส่ในแกง อาจเป็นปลาย่าง หรือ เนื้อหมูย่าง ใบขี้เหล็กที่ต้มเสร็จแล้วนั้น ก่อนใส่ลงในแกง แม่บ้านจะตำให้เป็นชิ้นหยาบ หรือละเอียด ขึ้นอยู่กับความชอบของครอบครัว อย่างไรก็ดีไม่ว่าชิ้นหยาบหรือละเอียด เราจะสังเกตุได้ว่าวันรุ่งขึ้นเราก็จะถ่ายออกมาเป็นชิ้นๆ ทั้งนี้เป็นเพราะใบขี้เหล็กย่อยยาก จึงทำให้มีกากเยอะ ถ่ายได้ง่ายขึ้น ที่จริงอันนี้เป็นภูมิปัญญาอันหนึ่งที่ทำให้ได้กินผักปริมาณมาก นอกเหนือจากการกินผักสด
          ประมาณปีพ.ศ. 2540 มีการใช้ใบขี้เหล็กอ่อน บดเป็นผง ใส่แคปซูล กินเป็นยานอนหลับ พบว่าได้รับความสนใจและใช้กันมากพอสมควร ต่อมาปี 2542 พบว่าแคปซูลใบขี้เหล็กทำให้เกิดตับอักเสบ เนื่องจากสารบาราคอลที่มีในใบ จนทำให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศยกเลิกการใช้เป็นยาเดี่ยว อนุญาตให้ใช้เป็นยาตำรับเท่านั้น จึงทำให้มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนสงสัยว่า แล้วทำไมแกงขี้เหล็กที่เรากินกันจะเป็นพิษต่อตับด้วยหรือไม่ หลังจากการทดลองหาปริมาณของบาราคอลในใบขี้เหล็กที่ต้มน้ำทิ้ง 2 ครั้ง พบว่า สารบาราคอลเหลืออยู่เพียง 10% เท่านั้น ไม่ทำให้เกิดพิษต่อตับแต่ประการใด อีกทั้งด้วยพฤติกรรมการกินแกงขี้เหล็ก ไม่ได้กินติดต่อกันทุกวันเหมือนกับการกินเป็นยา นั่นเป็นคำตอบว่า ทำไมคนกินแกงขี้เหล็กแล้วไม่เป็นอะไร
          กินแกงขี้เหล็กอาจไม่ได้ทำให้นอนหลับสบายอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะในกระบวนการทำแกงขี้เหล็กให้ปลอดภัยต้องต้มน้ำทิ้งเสียก่อน เพื่อให้ความขม เฝื่อนลดลง ฤทธิ์และความเป็นพิษก็ลดลงด้วย แต่ถึงอย่างไรแกงขี้เหล็ก ทำให้ถ่ายง่าย สะดวก ยอดอ่อนและใบขี้เหล็ก 100 กรัม มีเบตาคาโรทีน 1.4 มิลลิกรัม ใยอาหาร 5.6 กรัม แคลเซียม 156 มิลลิกรัม. ฟอสฟอรัส 190 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 5.8 มิลลิกรัม โปรตีน 7.7 กรัม คาร์โบไฮเดรต 10.9 กรัม .ให้พลังงาน 87 กิโลคาลอรี ในขณะที่ดอกขี้เหล็ก 100 กรัม มีสารอาหารน้อยกว่า เช่น มีเบตาคาโรทีน 0.2 มิลลิกรัม ใยอาหาร 9.8 กรัม แคลเซียม 13 มิลลิกรัม. ฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 1.6 มิลลิกรัม โปรตีน 4.9 กรัม คาร์โบไฮเดรต 18.7 กรัม .ให้พลังงาน 98 กิโลคาลอรี จึงอยากชักชวนให้ผู้ใหญ่รุ่นปัจจุบัน หันกลับมากินแกงขี้เหล็ก แกงแห่งภูมิปัญญา ทำให้มีทางเลือกในการบริโภคที่มากขึ้น อร่อยปาก สบายท้อง สุขภาพดี แต่อย่าลืมถามผู้ปรุงก่อนว่า ใบขี้เหล็กที่ใช้ต้มน้ำทิ้งแล้วหรือยัง จะได้ประโยชน์ในการกินโดยไม่มีพิษแอบแฝงให้กังวลใจต่อไป

บทความวิจัย "จะเลือกใช้ยาหอม อย่างไรจึงจะดี" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จะเลือกใช้ยาหอม อย่างไรจึงจะดี

ยาหอมเทพจิตร,ยาหอมทิพโอสถ,ยาหอมอินทจักร,ยาหอมนวโกฐ,แก้ลมวิงเวียน,บำรุงหัวใจ,ยาปรับธาตุ,โกฐทั้ง 9,แก้คลื่นไส้อาเจียน

รองศาสตราจารย์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล
ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          เมื่อพูดถึงยาหอม คงไม่มีคนไทยคนใดไม่รู้จัก แต่ที่น่าเสียดายคือ คนส่วนใหญ่แม้รู้จักก็จริง แต่รู้จักเพียงแต่ชื่อ สำหรับคนที่รู้จักก็เข้าใจเพียงแต่ว่า ยาหอมเป็นยาคนแก่ ใช้แก้ลมวิงเวียนเท่านั้น ผู้ที่ศึกษาองค์ความรู้การแพทย์แผนไทยทราบดีว่ายาหอมในคัมภีร์แพทย์แผนไทยมีจำนวนมากมายกว่า 300 ตำรับ ใช้ในโรคต่างๆ มากมาย และในการรักษาโรคของแพทย์แผนไทยสมัยโบราณนั้นจะมียาหอม พกติดตัวไว้ในล่วมยาสำหรับรักษาโรคยามฉุกเฉิน แล้วค่อยจ่ายยาต้มตามมาภายหลัง ถือได้ว่ายาหอมเป็นยาสำคัญทีเดียวในการแพทย์แผนไทย ความสำคัญของยาหอมนี้ค่อยเลือนหายไปจากสังคมไทย เนื่องจากการใช้ส่วนใหญ่คงอยู่เฉพาะในกลุ่มแพทย์แผนไทย ซึ่งมีคนไข้มารับการรักษาน้อย และคนไข้ที่เป็นโรคง่ายๆที่รักษาตนเองได้ก็เลือกใช้แต่ยาแผนปัจจุบันที่หาซื้อง่าย ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในการเลือกใช้ยาไทยด้วยตนเองเหมือนคนสมัยก่อน คนที่มีความรู้บ้างก็หาซื้อยาได้ยาก เนื่องจากมีบริษัทที่ผลิตยาไทยเหลืออยู่ไม่กี่บริษัท การวางขายก็ไม่ค่อยทั่วถึง ด้วยยอดขายที่น้อย ทำให้บริษัทผู้ผลิตยาไทยทะยอยปิดตัวลง ไม่เว้นแม้แต่บริษัทที่ผลิตยาหอมซึ่งนับว่าคงอยู่ได้นานกว่ายาประเภทอื่น
          เมื่อมีการฟื้นฟูการแพทย์แผนไทย รวมถึงการรณรงค์ให้ใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศบัญชียาแผนโบราณสามัญประจำบ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2542 ด้วยจุดมุ่งหมายที่ให้ประชาชนได้มียาสมุนไพรที่ดี ปลอดภัยไว้ใช้ในบ้าน โดยยาประเภทนี้สามารถวางขายในที่ใดก็ได้ ไม่ต้องเป็นสถานที่ที่ได้รับอนุญาตขายยา หรือสถานการแพทย์ ด้วยต้องการให้มีการกระจายยาอย่างทั่วถึง ประชาชนเข้าถึงยาสมุนไพรได้ ในประกาศนั้นมียาตำรับแผนโบราณ 27 ตำรับ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่ามีประสิทธิภาพดี และใช้กันมายาวนาน ในจำนวนนั้นยาหอมอยู่ถึง 4 ชนิด คือ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมอินทจักร และ ยาหอมนวโกฐ ทั้ง 4 ชนิดนี้ มีข้อบ่งใช้ดังนี้คือ
          ยาหอมเทพจิตร ใช้แก้ลม บำรุงหัวใจ โดยผสมน้ำดอกไม้เทศ
          ยาหอมทิพโอสถ แก้ลมวิงเวียน แก้ลมบาดทะจิต ใช้น้ำดอกมะลิเป็นน้ำกระสายยา
          ยาหอมอินทจักร แก้คลื่นเหียนอาเจียน โดยใช้น้ำลูกผักชี หรือเทียนดำต้ม หรือน้ำสุก แก้ลมจุกเสียด ใช้น้ำขิงต้ม
          ยาหอมนวโกฐ แก้ลมคลื่นเหียน อาเจียน ใช้น้ำลูกผักชี เทียนดำต้ม แก้ลมปลายไข้ ใช้ก้านสะเดา ลูกกระดอม และบอระเพ็ด ต้มเอาน้ำ ถ้าหาน้ำกระสายไม่ได้ใช้น้ำสุกแทน
          อย่างไรก็ดี พบว่าคนทั่วไปยังมีความสับสนในการเลือกใช้ยาหอมทั้ง 4 ชนิดนี้ ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจเรื่อง ยาหอมตามหลักทฤษฎีการแพทย์แผนไทยก่อนว่า ยาหอม เป็นยาที่ใช้บำรุงหัวใจ ซึ่งในทางการแพทย์แผนไทยไม่ได้หมายถึงยากระตุ้นการทำงานหรือการปรับการเต้นของหัวใจ แต่หมายถึงยาปรับการทำงานของลมที่เคลื่อนไหวทั่วร่างกายมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก การหมุนเวียนของเลือด เรียกรวมกันว่า ลมกองละเอียด ยาหอมบางชนิดนอกจากใช้บำรุงหัวใจแล้ว ยังใช้สำหรับแก้ไขปัญหาที่เกิดจากลมกองหยาบ ซึ่งหมายถึง ลมที่อยู่ภายในทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการจุกเสียดอีกด้วย การตั้งตำรับยาหอมจึงต้องประกอบด้วยสมุนไพรจำนวนมาก เพื่อปรับการทำงานของธาตุลม ไฟ และน้ำ ให้เข้าสู่สมดุลย์ และการใช้ยาแต่เนิ่น ก็เป็นการป้องกันไม่ให้เสียสมดุลย์มากจนกระทบธาตุดิน และยากแก่การรักษา ในองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทยนั้นยาหอมตั้งขึ้นเพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวกับลม ที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด ประกอบด้วยสมุนไพรที่จำแนกได้เป็นกลุ่มดังนี้
          1. ยาพื้นฐาน เป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ส่วนใหญ่มีรสสุขุม ยากลุ่มเป็นยาพื้นฐานด้วยความประสงค์ที่จะทำให้ร่างกายเราอยู่ในสมดุลย์ คือไม่ร้อน หรือเย็นเกินไป สมุนไพรในกลุ่มนี้ได้แก่ โกฐทั้ง 5 เทียนทั้ง 5 กฤษณา ขอนดอก กระลำพัก อบเชย
          2. สมุนไพรเพิ่มการทำงานของธาตุลม เป็นตัวยารสร้อนหรือรสเผ็ดร้อน เช่น สมุลแว้ง สนเทศ ว่านน้ำ กระชาย เปราะหอม สุรามฤต ข่าต้น ลูกจันทน์ ผิวส้ม ตัวยากลุ่มนี้เป็นตัวยาหลัก เพราะยาหอมเป็นยาที่ใช้ปรับการทำงานของธาตุลมให้เข้าสู่สมดุลย์ แต่อย่างไรก็ดี ถ้ามีตัวยากลุ่มนี้มาก การเติมตัวยาเหล่านี้มาก จะทำให้ยาตำรับค่อนข้างไปทางร้อน ซึ่งจะเหมาะสำหรับการรักษาอาการวิงเวียน เป็นลม
          3. ยาปรับธาตุ ซึ่งมักนำมาจากพิกัด เบญจกูล (สะค้าน ช้าพลู ขิง ดีปลี เจตมูลเพลิงแดง) หรือ พิกัดตรีผลา (สมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อม) พิกัดตรีที่เลือกใช้เพื่อปรับธาตุ มักเป็นพิกัดตรีผลา ในยาหอมที่ใช้สำหรับแก้ปัญหาเลือดลม เพราะพิกัดนี้ใช้ปรับกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับธาตุไฟ
          4. ส่วนประกอบ ที่ใส่เฉพาะตำรับ เพื่อใช้เฉพาะอาการ ได้แก่
            พิกัดเกสร หรือ ดอกไม้ชนิดต่างๆเช่น มหาหงส์ กาหลง เป็นต้น ทำให้ยาหอมประเภทนี้จะเป็นยาหอมสุขุม เย็น รสความร้อน ทำให้จิตใจที่ร้อนรุ่ม เย็นลง สงบมากขึ้น
            สมุนไพรรสขม หรือ เย็น เพื่อลดไข้ ลดความร้อน เช่น ลูกกระดอม บอระเพ็ด ราชดัด หญ้าตีนนก จันทน์ขาว จันทน์แดง ฝาง ดอกคำไทย สรรพคุณบำรุงเลือด พบในยาหอมสำหรับปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือน กระจับ แห้วหมู สรรพคุณ บำรุงกำลัง
          จากการที่ยาหอมมีองค์ประกอบหลัก ข้อ 1 และ 2 คล้ายกัน แต่องค์ประกอบในข้อ 3 และ 4 แตกต่าง ทำให้ยาหอมทุกชนิดมีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน แต่บางชนิดอาจต้องใช้ร่วมกับน้ำกระสายยา เนื่องจากมีตัวยาแก้ลมวิงเวียนน้อยไป นอกจากนี้ ยาหอมบางชนิดยังมีความจำเพาะในการเลือกใช้ ดังนี้
ยาหอมเทพจิตร
          ประกอบด้วยตัวยา 48 ชนิด ตัวยาหลักคือ ดอกมะลิ ครึ่งหนึ่งของน้ำหนักทั้งตำรับ และเปลือกส้ม 8 ชนิดรวม 56 ส่วนใน 368 ส่วนของทั้งตำรับ เหมาะสำหรับ อาการลม วิงเวียน ซึ่งเกิดจากฤทธิ์ของตัวยารสร้อนหลายชนิด รวมถึงผิวส้ม 8 ประการ ตามหลักการแพทย์แผนไทย ผิวส้มมีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย สวิงสวาย และ บำรุงหัวใจ ซึ่งหมายถึง บำรุงให้จิตใจรู้สึกแช่มชื่น เหมาะกับคนที่รู้สึกซึมเศร้า มีอารมณ์เศร้าหมอง ที่มักเกิดขึ้นในบางเวลา หรือคนสูงอายุที่รู้สึกเหงา เศร้า โดยตัวยาหลักคือ ดอกมะลิ มีสรรพคุณบำรุงจิตใจให้ชุ่มชื่น สอดคล้องกับรายงานวิจัยน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้จิตใจสดชื่น หลังการนวดอะโรมา นอกจากนี้มีรายงานวิจัยในหนูที่กินน้ำมันผิวส้ม และ การใช้น้ำมันผิวส้มนวดอะโรมา ทำให้คลายกังวล และสงบระงับ อย่างไรก็ดีการใช้ยาหอมในกลุ่มอาการเหล่านี้ ใช้ได้เฉพาะอาการที่แรกเริ่ม ไม่ใช่ยารักษาอาการสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตเวชที่ต้องปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบัน
ยาหอมทิพโอสถ
          ประกอบด้วยตัวยา 48 ชนิด นอกจากยารสสุขุม เช่น โกฐทั้ง 9 เทียนทั้ง 9 และตัวยารสร้อน แล้ว การผสมเกสรทั้ง 5 คือ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี ดอกมะลิ เกสรบัวหลวง รวมถึง ดอกกระดังงา ดอกบัวจงกลนี ซึ่งมีรสเย็น หัวแห้วไทย และ กระจับ มีสรรพคุณบำรุงกำลัง ดอกคำไทย ฝาง มีสรรพคุณบำรุงเลือด ทำให้นอกจากใช้แก้ลมวิงเวียน โดยละลายน้ำสุกหรือน้ำดอกไม้แล้ว ยังสามารถใช้ในสตรีที่มักมีความรู้สึกหงุดหงิดโกรธง่ายในช่วงก่อนมีประจำเดือน เนื่องจากเป็นผลกระทบของความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบเดือนและกระทบต่อจิตใจ การใช้ยาที่มีดอกไม้เป็นส่วนผสมจะลดผลกระทบของความร้อนดังกล่าวลง ทำให้จิตใจเย็นลง โดยไม่ทำให้โลหิตเย็น ซึ่งกระทบต่อการมีประจำเดือน แต่ยานี้เป็นเพียงยาบรรเทาอาการเบื้องต้น ไม่ใช่การรักษาต้นเหตุ ต้องปรึกษาแพทย์แผนไทยในการแก้ไขอาการเหล่านี้ให้เข้าสู่สมดุลย์
ยาหอมอินทจักร
          ประกอบด้วยตัวยา 50 ชนิด ยารสสุขุม เช่น โกฐ 7 ชนิดในโกฐทั้ง 9 ยกเว้นโกฐหัวบัว โกฐชฎามังษี เทียนทั้ง 9 กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก ตัวยารสร้อนเช่น ลูกจันทน์ ดอกจันทร์ ลูกกระวาน กานพลู เกสรทั้ง 7 ยารสขมได้แก่ บอระเพ็ด ลูกกระดอม รากหญ้านาง ดีวัว จันทน์แดง จันทร์เทศ เพื่อลดความร้อนแก้ไข้ ดับพิษภายใน บำรุงไฟธาตุ เจริญอาหาร เถามวกขาว มวกแดง ดอกคำไทย ฝางเสน บำรุงโลหิต ซึ่งมีความหมายทำให้เลือดดี มีสีแดงสดใส ไม่ดำคล้ำ มีเลือดฝาดดี ไม่ได้เพิ่มการสร้างเม็ดเลือด ต่างจากความหมายของแผนปัจจุบัน โกฐน้ำเต้าเป็นยาระบาย เพื่อช่วยลดความร้อน ลูกผักชีลา โกฐกักกรา แก้คลื่นเหียน มีพิกัดเบญจกูลปรับธาตุ
          ยาหอมอินทจักร ใช้ได้ดีในการแก้คลื่นไส้อาเจียนโดยละลายยากับน้ำลูกผักชี หรือเทียนดำต้ม หรือน้ำสุก เนื่องจากในตำรับมีตัวยาแก้คลื่นไส้ 2 ชนิด คือ ลูกผักชีลา โกฐกักกรา แก้ลมจุกเสียด โดยละลายด้วยน้ำขิงต้ม ด้วยเหตุที่ว่ามีส่วนประกอบของ ดีวัว ที่บำรุงน้ำดี บอระเพ็ด บำรุงไฟธาตุ ทำให้การเผาผลาญสมบูรณ์ดีขึ้น และมีพิกัดเบญจกูลช่วยปรับธาตุ นอกจากนี้ยาหอมอินทจักร สามารถใช้ในอาการหงุดหงิดกระวนวาย จิตใจไม่สงบโบราณเรียกว่าลมบาดทะจิต (ละเมอเพ้อพกพูดคนเดียวเหมือนผีเข้า เกิดจากจิตระส่ำระสาย) โดยละลายยาด้วยน้ำดอกมะลิ การออกฤทธิ์น่าจะเป็นด้วยน้ำดอกมะลิที่ใช้เป็นน้ำกระสายยา ดอกพิกุล รสหอมเย็น แก้ไข้เพ้อคลั่งและ ดีวัว ที่มีสรรพคุณ ดับพิษภายใน แก้พิษ เพ้อคลั่ง สติลอย ตาลาย พาให้รสยาแล่นไปทั่วตัว ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ใช้ในกรณีที่เป็นไข้สูงและเพ้อ เนื่องจากอาจไม่สามารถลดไข้ได้ทันเวลา เพราะตัวยาลดไข้มีปริมาณไม่มาก
          ในรายงานการวิจัยพบว่ายาหอมอินทรจักร เพิ่มความแรงการบีบตัวของหัวใจ และ มีฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิตเล็กน้อย ซึ่งน่าจะได้ผลดีต่ออาการเป็นลม และยังพบว่า ทำให้หลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองขยายตัว และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น ต้านการอาเจียน ซึ่งสอดคล้องกับสรรพคุณแผนไทย ทำให้ยืดเวลาการนอนหลับของสัตว์ทดลองเมื่อให้ร่วมกับยานอนหลับ
ยาหอมนวโกฐ
          ประกอบด้วยตัวยา 58 ชนิด มียารสสุขุม เช่น โกฐทั้ง 9 เทียนทั้ง 9 กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก ตัวยารสร้อนเช่น ลูกจันทน์ ดอกจันทร์ ลูกกระวาน กานพลู แก่นสน เกสรทั้ง 5 ยารสขม ได้แก่ ลูกราชดัด จันทน์แดง จันทร์เทศ บอระเพ็ด ลูกกระดอม เพื่อลดความร้อนแก้ไข้ ดับพิษภายใน บำรุงไฟธาตุ เจริญอาหาร ลูกผักชีลา แก้คลื่นเหียน มีพิกัดเบญจกูลปรับธาตุ เช่นเดียวกับยาหอมอินทจักร
          ใช้แก้คลื่นไส้ โดยละลายยาด้วยน้ำลูกผักชี หรือเทียนดำต้ม เนื่องจากในตำรับมีตัวยาแก้คลื่นไส้ คือ ลูกผักชีลา และมีตัวยาปรับสมดุลย์อื่นๆ รวมทั้งมีพิกัดเบญจกูลช่วยปรับธาตุ แต่อย่างไรก็ดี จะโดดเด่นในการใช้แก้ลมปลายไข้ โดยผสมกับน้ำสุก ลมปลายไข้ หมายถึงอาการท้องอืด เฟ้อ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เกิดหลังจากหายไข้ ในระยะพักฟื้น เนื่องจากมียารสขมเช่น ลูกกระดอม บอระเพ็ด บำรุงน้ำดี เจริญอาหาร บำรุงไฟธาตุ การเผาผลาญสมบูรณ์ดีขึ้น พิกัดเบญจกูลช่วยปรับธาตุ ทำให้ร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น
          ในรายงานการวิจัยพบว่ายาหอมนวโกฐเพิ่มความแรงการบีบตัวของหัวใจ และ เพิ่มความดันโลหิตเล็กน้อย ทำให้หลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองขยายตัว และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น ยาหอมนวโกฐมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางทำให้หลับสบาย และทำให้การหลั่งกรดลดลง และยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็ก แก้ปวดท้องได้ดี
น้ำกระสายยา
          นอกจากข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกัน ของยาหอมทั้ง 4 ชนิด ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การใช้ยาหอมละลายกับน้ำกระสายยา จะทำให้รักษาอาการต่างๆได้หลากหลายขึ้น ดังต่อไปนี้
          แก้ลมวิงเวียน ใช้ น้ำดอกไม้ หรือ น้ำสุก
          แก้ลมบาดทะจิต ใช้น้ำดอกมะลิ
          แก้คลื่นเหียนอาเจียน น้ำลูกผักชี หรือ เทียนดำต้ม หรือ น้ำสุก
          แก้ลมจุกเสียด น้ำขิงต้ม
          แก้ลมปลายไข้ น้ำสุก
          แก้ท้องเสีย น้ำต้มใบทับทิม หรือ น้ำต้มเหง้ากระทือเผาไฟ
ข้อแนะนำสำหรับการใช้ยาหอม
          การใช้ยาหอมให้ได้ผล แม้จะเป็นชนิดเม็ด ควรนำมาละลายน้ำกระสายยา หรือน้ำอุ่น รับประทานขณะกำลังอุ่น เหมือนกับวิธีการเดิม เพราะการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยที่มีในยาหอมจะช่วยทำให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น และออกฤทธิ์ผ่านประสาทรับกลิ่น และการดูดซึมผ่านกระเพาะอาหาร
ข้อควรระวังสำหรับการใช้ยาหอม
          ยาหอมไม่ใช่ยารักษาอาการโดยตรง แต่เป็นยาปรับสมดุลย์ธาตุโดยเริ่มจากธาตุลม เพื่อไปกระตุ้นการทำงานของน้ำ และไฟ ทำให้มีการไหลเวียนสะดวก เผาผลาญตามปกติ ซึ่งเป็นหลักวิธีคิดแบบองค์รวม ดังนั้น การใช้ยาหอมจะไม่ได้ให้ผลดีแบบปุบปับเหมือนยาเคมีสังเคราะห์ แต่จะทำให้สมดุลย์ที่เบี่ยงหรือเอนไป ค่อยๆปรับกลับสู่สภาพเดิม ขนาดที่ใช้ควรใช้ตามคำแนะนำ การกินเกินขนาดที่แนะนำไม่ทำให้เกิดอาการพิษทันที แต่จะผลักดันให้การทำงานของธาตุเปลี่ยนไปเร็ว และทำให้สมดุลย์อาจขาดหรือเกินไปอีกทางได้ จึงควรเดินทางสายกลาง เริ่มใช้ยาตั้งแต่มีอาการน้อยๆค่อยเป็นค่อยไปจึงจะดี
          อย่างไรก็ดี การเลือกใช้ยาหอมให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ควรเลือกชนิดของยาหอมและน้ำกระสายยาให้ถูกกับอาการ ขนาดที่ใช้ใกล้เคียงกับน้ำหนักตัว และหากไม่สามารถซื้อหรือเก็บยาหอมหลายชนิดไว้ในตู้ยาประจำบ้าน ก็สามารถเลือกยาหอมประเภทกลางๆเช่น ยาหอมอินทจักร และใช้ร่วมกับน้ำกระสายยาตามที่ระบุ การใช้ยาหอมไม่ใช่แก่คร่ำครึ แต่ยาหอมเพียงตำรับเดียว ก็เสริมสุขภาพให้ดีทั้งครอบครัวได้ โดยไม่ต้องใช้ยาเคมีสังเคราะห์ และยังเป็นการสืบเจตนารมณ์ของรุ่นปู่ย่าตายาย ที่อุตส่าห์สั่งสมความรู้ไว้เป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลานไทย
          ผู้เขียน ขอขอบคุณ หมอมานาวุธ ผุดผาด แพทย์แผนไทยที่ได้ให้ความรู้ ความเห็น ทำให้วิเคราะห์ข้อมูลตามแนวคิดของการแพทย์แผนไทยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากมีข้อผิดพลาดหรือความเห็นที่แตกต่าง ผู้เขียนยินดี รับฟัง เพื่อปรับให้ใช้ยาตำรับโดยเฉพาะยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ สามารถอธิบายด้วยหลักการการแพทย์แผนไทยที่ชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น
เอกสารอ้างอิง
  1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2542 (คัดจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 67ง วันที่ 24 สิงหาคม 2542)
  2. มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม และโรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. ตำราการแพทย์ไทยเดิม (แพทยศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับอนุรักษ์) ฉบับชำระ พ.ศ.๒๕๕๐.
  3. โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร. ตำราประมวลหลักเภสัช. กรุงเทพฯ: 2524
  4. เชาวน์ กสิพันธุ์. ตำราเภสัชศึกษา. กรุงเทพฯ: สมาคมแพทย์เภสัชกรรมไทยโบราณ, 2522.
  5. ประเสริฐ พรหมมณี และ ปริญญา อุทิศชลานนท์ เรียบเรียง. ตำราเภสัชกรรมไทยแผนโบราณ สำหรับผู้อบรมศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ และผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ. กรุงเทพฯ: กองวิชาการแพทย์โบราณ วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์, 2515.
  6. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และพินิต ชินสร้อย ยาหอม ยาลม. เอกสารวิชาการ ในมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 7 เรื่อง หอมกรุ่นทั่วไทย หอมไกลทั่วโลก, 2553.
  7. Hongratanaworakit T. Stimulating effect of aromatherapy massage with jasmine oil. Nat Prod Commun. 2010 Jan;5(1):157-62.
  8. Carvalho-Freitas MI, Costa M. Anxiolytic and sedative effects of extracts and essential oil from Citrus aurantium L. Biol Pharm Bull. 2002 Dec;25(12):1629-33.
  9. Tapanee Hongratanaworakit, and Gerhard Buchbauer. Physiological and psychological effects of essential oil in aromatherapy massage. 32nd Congress on Science and Technology of Thailand (STT.32), held on 10 - 12 October 2006 at Queen Sirikit National Convention Center, Bangkok, Thailand.

บทความวิจัย "น้ำมันไพลทอดต่างจากน้ำมันไพลกลั่นอย่างไร?" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

น้ำมันไพลทอดต่างจากน้ำมันไพลกลั่นอย่างไร?

น้ำมันไพล,สมุนไพร,สมุนไพรแก้บวม,สมุนไพรแก้ฟกช้ำ,สมุนไพรแก้เคล็ดยอก

รองศาสตราจาย์ ดร. เภสัชกรหญิงนพมาศ สุนทรเจริญนนท์
ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          ไพล หรือปูลอย ปูเลย มิ้นสะล่าง ว่านไฟ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber montanum (Koenig) Link ex Dietr. หรือ Zingiber cassumunar Roxb. วงศ์ Zingiberaceae เป็นสมุนไพรตัวหนึ่งในบัญชียาจากสมุนไพร ใน บัญชียาหลักแห่งชาติ ปี 2554 กลุ่มที่ 2 บัญชียาพัฒนาจากสมุนไพร กลุ่มยารักษาอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ยาสำหรับใช้ภายนอก ได้แก่ ตำรับยาครีมไพล [ประกอบด้วยน้ำมันไพลที่จากการกลั่น ร้อยละ 14 โดยปริมาตรต่อน้ำหนัก (v/w)] และ ยาน้ำมันไพล [สารสกัดน้ำมันไพลที่ได้จากการทอด (hot oil extract) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ในตำรับ ซึ่งเป็นสูตรเภสัชตำรับของโรงพยาบาล] ข้อบ่งใช้ของทั้งสองตำรับคือ บรรเทาอาการบวม ฟกช้ำ เคล็ดยอก1
          น้ำมันไพลที่ได้จากการทอดและการกลั่นต่างกันอย่างไร? น้ำมันไพลที่ได้จากการกลั่นเป็น น้ำมันหอมระเหย ซึ่งเป็นของเหลวที่เป็น hydrophobic ระเหยได้ อาจจะได้จากการกลั่นโดยการต้มด้วยน้ำ (water distillation) ไอน้ำจะพาเอาน้ำมันหอมระเหย ไปควบแน่นเมื่อสัมผัสกับความเย็นของเครื่องควบแน่น (condenser) วิธีการกลั่นแบบนี้เป็นวิธีที่ชาวยุโรปดั้งเดิมนิยมใช้กัน แต่มีข้อเสียตรงที่ไพลที่นำมากลั่นจะถูกความร้อนนาน อาจทำให้น้ำมันไพลที่ได้มีกลิ่นผิดไปได้ หรือจะได้จากการกลั่นโดยใช้การผ่านของไอน้ำเข้าสู่ภาชนะที่มีไพลบรรจุอยู่ (steam distillation) ไอน้ำจะพาเอาน้ำมันหอมระเหยไปควบแน่นที่เครื่องควบแน่น วิธีนี้มีข้อดีกว่าคือ ไพลจะถูกความร้อนไม่มาก น้ำมันหอมระเหยที่ได้จะไม่มีกลิ่นผิดเพี้ยนไป นั่นคือน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากทั้ง 2 วิธี จะมีสารประกอบทางเคมีที่ต่างกันบ้าง โดยทั่วไปน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการกลั่นจะประกอบด้วยสารประกอบทางเคมีที่มีโมเลกุลเล็ก ได้แก่ สารกลุ่ม monoterpenes (สารที่ประกอบด้วยคาร์บอนจำนวน 10 ตัว) และสารกลุ่ม sesquiterpenes (สารที่ประกอบด้วยคาร์บอนจำนวน 15 ตัว) น้ำมันหอมระเหยไพลที่ได้จากการกลั่นประกอบด้วย สารกลุ่ม monoterpenes ได้แก่ sabinene, terpinen-4-ol, alpha-pinene, alpha-terpinene, gamma-terpinene, limonene, myrcene, p-cymene, terpinolene2, (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl)butadiene (DMPBD), (E)-4-(3,4-dimethoxyphenyl)but-3-en-1-ol (Compound D)3,4
          ส่วนน้ำมันไพลที่ได้จากการทอดด้วยน้ำมันพืช เป็นวิธีของคนไทยโบราณที่ใช้เตรียมน้ำมันไพลเพื่อใช้ในครัวเรือน เป็นน้ำมันถูนวด แก้ปวดกล้ามเนื้อ ปัจจุบันหลายโรงพยาบาลของรัฐได้มีการเตรียมเป็นเภสัชตำรับของโรงพยาบาล และเป็นหนึ่งตำรับในบัญชียาจากสมุนไพร ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปี 2554 น้ำมันไพลสูตรนี้เตรียมได้จากการนำไพลสดมาทอดกับน้ำมันพืชชนิดอิ่มตัว (ประกอบด้วยกรดไขมันชนิดอิ่มตัว) ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันปาล์ม ไม่ควรใช้น้ำมันพืชชนิดไม่อิ่มตัว (ประกอบด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว) ได้แก่ น้ำมันงา น้ำมันมะกอก น้ำมันคำฝอย น้ำมันทานตะวัน หรือน้ำมันรำข้าว ทั้งนี้เพราะว่าน้ำมันชนิดไม่อิ่มตัวจะไม่ทนต่อความร้อน ทำให้พันธะคู่ในโมเลกุลเกิดการแตก และรวมตัวเป็นสาร “โพลีเมอร์” เกิดขึ้น ทำให้เกิดความหนืด นอกจากนี้จะทำให้เกิดควันได้ง่าย และน้ำมันเหม็นหืน น้ำมันพืชที่ใช้ในการทอดเป็นน้ำมันที่ประกอบด้วยกรดไขมัน (fatty acids) ซึ่งถือได้ว่าเป็นสารประกอบทางเคมีที่มีขั้วน้อย เป็นตัวทำละลายที่ดีในการสกัดสารที่มีขั้วน้อยด้วย ฉะนั้นน้ำมันพืชก็สามารถจะสกัดน้ำมันหอมระเหยซึ่งประกอบด้วยสารประกอบที่มีขั้วน้อยและโมเลกุลเล็กได้ พร้อมทั้งสกัดสารประกอบที่มีขั้วน้อยแต่มีโมเลกุลใหญ่ได้ด้วย ซึ่งในไพลนอกจากประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยแล้ว ยังประกอบสารกลุ่ม arylbutanoids, curcuminoids, และ cyclohexene derivatives เป็นสารที่มีโมเลกุลใหญ่กว่าสารในน้ำมันหอมระเหย และเป็นสารที่ไม่ระเหย สรุปง่าย ๆ คือ น้ำมันไพลที่ได้จากการกลั่นจะเป็นน้ำมันหอมระเหยที่ประกอบด้วยสารโมเลกุลเล็กและระเหยได้ ส่วนน้ำมันที่ได้จากการทอดจะประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยและสารที่มีโมเลกุลใหญ่และไม่ระเหย
          น้ำมันหอมระเหยและสารที่มีโมเลกุลใหญ่ (สารกลุ่ม arylbutanoids, curcuminoids, และ cyclohexene derivatives) เป็นกลุ่มสารที่มีผลการวิจัยพบว่า มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวดในสัตว์ทดลอง โดยมีกลไกการออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยากลุ่ม NSAIDs3,4-12 นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาทางคลินิกพบว่า ครีมไพลหรือไพลจีซาล (14% ของน้ำมันหอมระเหย) มีฤทธิ์ลดการอักเสบและการปวดของข้อเท้าแพลงในผู้ป่วยนักกีฬาที่บาดเจ็บข้อเท้าแพลงมากกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับยา หลอก13 และพบว่าครีมไพจีซาลได้ผลดีในการรักษาอาการปวดเมื่อยหลัง ไหล่ ต้นคอ เอว เข่า14 แต่ตำรับยาน้ำมันไพลที่ได้จากการทอดด้วยน้ำมันพืช หรือการสกัดด้วยตัวทำละลายที่ไม่มีขั้ว ยังไม่เคยมีการศึกษาทางคลินิกมาก่อน ซึ่งขณะนี้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษาโครงการ “การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสมุนไพรไทยเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า AFTA ด้วยสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ 2554” เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุน FTA กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กำลังศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมของตำรับยาครีมไพลสกัด ซึ่งเป็นการเลียนแบบวิธีการสกัดแบบภูมิปัญญา ซึ่งเป็นการสกัดสารหลาย ๆ ชนิด ไม่เพียงแต่น้ำมันหอมระเหยเท่านั้น และเป็นการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า
          ประชาชนสามารถจะเตรียมน้ำมันไพลใช้เองได้ในครัวเรือน จึงขอแนะนำวิธีเตรียมตำรับน้ำมันไพลทอดสูตรโบราณซึ่งใส่เหง้าขมิ้นชันด้วย เพื่อเสริมฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวด ทั้งนี้เพราะขมิ้นชันประกอบด้วยสารสำคัญคือ น้ำมันหอมระเหย และสารกลุ่ม curcuminoids ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวดได้

ตำรับน้ำมันไพลทอดสูตรโบราณ
หัวไพลสด2 กิโลกรัม
ขมิ้นชันสด1/2 กิโลกรัม
น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันมะพร้าว1 กิโลกรัม
ดอกกานพลู100 กรัม
การบูร100 กรัม
วิธีทำ
  1. หั่นไพลสด และขมิ้นชันสด ให้เป็นชิ้นบาง ๆ
  2. เทน้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันมะพร้าว ลงกระทะยกตั้งไฟ พอน้ำมันร้อนปานกลาง เอาไพลและขมิ้นชันลงทอดในน้ำมัน (เหมือนทอดกล้วยแขก) ทอดจนไพลและขมิ้นชันกรอบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่ แล้วน้ำมันเป็นสีเหลืองใส (ระวังไหม้) ช้อนเอาชิ้นไพลและขมิ้นชันออก
  3. ตำกานพลูให้ป่น นำลงทอดในน้ำมันต่อและลดไฟให้เหลือไฟอ่อน ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันที่อยู่ในกานพลูระเหยไป ทอดประมาณ 5 นาที กรองด้วยผ้าขาวบาง
  4. พอน้ำมันอุ่น ๆ ผสมการบูรลงในน้ำมัน แล้วเทลงในภาชนะที่สามารถปิดฝาให้สนิทป้องกันการระเหยได้ แล้วเทบรรจุลงขวดเล็กปิดฝาให้แน่นเพื่อนำไปใช้ต่อไป
เอกสารอ้างอิง
  1. คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา. บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2554. กรุงเทพฯ
  2. Casey TE, Dougan J, Matthews WS, Nabney J. Essential oil of “phai”, Zingiber cassumunar, from Thailand. Tropical Science 1971; 13(3): 199-202.
  3. Panthong A, Kanjanapothi D, Niwatananum V, et al. Antiinflammatory activity of compounds isolated from Zingiber cassumnar. Planta Med 1990; 56: 60.
  4. Jeenapongsa R, Yoovathaworn K, Sriwatanakul KM, et al. Anti-inflammatory activity of (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl) butadiene from Zingiber cassumunar Roxb. J Ethnopharmacol 2003; 87: 143-8.
  5. Panthong A, Kanjanapothi D, Niwatananant W, et al. Anti-inflammatory activity of compound D (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl) but-3-en-2-ol isolated from Zingiber cassumunar. Phytomedicine 1997; 4(3): 207-12.
  6. Ozaki Y, Kawahara N, Harada M. Anti-inflammatory effect of Zingiber cassumunar Roxb. and its active principles. Chem Pharm Bull 1992; 39(9): 2353-6.
  7. Pongprayoon U, Tuchinda P, Claeson P, et al. Topical antiinflammatory activity of the major lipophilic constituent of the rhizome of Zingiber cassumunar, Part 1, The essential oil. Phytomedicine 1997; 3(4): 319-22.
  8. Pongprayoon U, Tuchinda P, Claeson P, et al. Topical antiinflammatory activity of the major lipophilic constituent of the rhizome of Zingiber cassumunar, Part 2, Hexane extractives. Phytomedicine 1997; 3(4): 323-6.
  9. Masuda T, Jitoe A, Nakatani N. Structures of cassumunin A, B, and C, new potent antioxidants from Zingiber cassumunar. Chemistry Lett 1993; 22(1): 189-92.
  10. Masuda T, Jitoe A, Mabry TJ. Isolation and structure determination of cassumunarins A, B, and C: new anti-inflammatory antioxidants from a tropical ginger, Zingiber cassumunar. J Am Oil Chem Soc 1995; 72(9): 1053-7.
  11. Jeenapongsa R, Yoovathaworn K, Sriwatanakul K, et al. Anti-inflammatory activity of DMPBD, a phenylbutanoid from Zingiber cassumunar. Annual research abstacts and bibliography of non-formal publications 1994, Mahidol University 1995; 22: 327.
  12. Han AR, Kim MS, Jeong YH, et al. Cyclooxygenase-2 inhibitory phenylbutenoids from the rhizomes of Zingiber cassumunar. Chem Pharm Bull 2005; 53(11): 1466-8.
  13. Laupattarakasem W, Kowsuwon W, Laupattarakasem P, et al. Efficacy of Zingiber cassumunar Roxb. (Plygesal) in the treatment of ankle sprain. Srinagarind Med J 1993; 8(3): 159-64.
  14. ศศิธร วสุวัต และคณะ. การวิจัยและพัฒนายารักษาอาการอักเสบชนิดใหม่ของไพล Zingiber cassumunar Roxb. การประชุมวิชาการเรื่องการพัฒนาเภสัชภัณฑ์จากสมุนไพรใช้ภายนอก. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 7-8 พ.ค. 2535.

บทความวิจัย "น้ำมันมะพร้าวรักษาโรค อัลไซม์เมอร์ (Alzheimer) ได้จริงหรือ" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

น้ำมันมะพร้าวรักษาโรค อัลไซม์เมอร์ (Alzheimer ) ได้จริงหรือ

น้ำมันมะพร้าว,coconut oil,อัลไซม์เมอร์ ,Alzheimer

รองศาสตราจารย์วัลลา ตั้งรักษาสัตย์
ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          น้ำมันมะพร้าว (Coconut oil) ซึ่งสกัดจากเนื้อ (Kernel) ของมะพร้าว (Cocos nucifera) ได้รับความสนใจและมีการแนะนำให้นำมาใช้การรักษาโรคอัลไซม์เมอร์ ในน้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันสายปานกลาง (Medium chain triglycerideds, MCTs ) ซึ่งมีจำนวนคาร์บอน 8-12 อะตอมได้แก่กรดลอริก ( C=12) กรดคาปริก (C=10) กรดคาไพรลิก(C=10) และกรดคาโปรอิก (C=8) รวมกันประมาณ 62.5 % ไขมันซึ่งมีกรดไขมันสายปานกลางเมื่อเข้าสู่ร่างกายสามารถเข้าสู่ตับได้โดยตรงไม่ต้องอาศัยน้ำดีในการย่อย
          โดยทั่วไปร่างกายได้รับพลังงานจากกลูโคส เมื่อกลูโคสลดลงเช่นในกรณีขาดอาหารหรืออดอาหาร ตับจะสร้าง ketone bodies ซึ่งได้แก่ acetoacetate beta-hydroxybutyrate และacetone จากไขมันที่ร่างกายสะสมไว้เพื่อเป็นแหล่งพลังงานแทน
          ในผู้ที่เป็นโรคอัลไซม์เมอร์นั้นการเผาผลาญกลูโคสลดลงจึงมีผลต่อการทำงานของสมอง มีผู้เสนอให้ใช้น้ำมันมะพร้าวซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างคีโตนเพื่อเป็นแหล่งพลังงานของสมองและกล่าวว่าผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมสามารถใช้คีโตนได้ดีกว่ากลูโคส ซึ่งทฤษฎีนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนักในหมู่แพทย์ที่รักษาโรคอัลไซม์เมอร์และนักวิจัย
          การทำให้เกิดภาวะคีโตซิสในร่างกายนั้นสามารถทำได้โดยการให้อาหารที่เรียกว่า Ketogenic diet ซึ่งเป็นอาหารที่มีไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตและโปรตีนต่ำ เพื่อให้ร่างกายใช้ไขมันเป็นแหล่งพลังงานหลักเพื่อทำให้เกิดการสร้างคีโตนขึ้น มีการใช้อาหารนี้ในการรักษาโรคลมชักมาเป็นระยะเวลานานโดยเฉพาะในเด็กที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อการใช้ยาและต่อมาพบว่าการใช้ MCTs oil แทนไขมันที่ใช้ตามปกติจะทำให้การดูดซึมเร็วกว่า และทำให้อาหารมีรสชาติดีกว่า เกิดภาวะคีโตซิสได้เร็วกว่าสามารถป้องกันการชักได้
          มีรายงานการศึกษาถึงผลของการใช้ Ketogenic diet ในผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัลไซม์เมอร์และมีความจำเสื่อมเล็กน้อยจำนวน 23 คน เป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดยให้อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำซึ่งจะทำให้มีระดับคีโตนเพิ่มขึ้น พบว่าทำให้ผู้ป่วยมีความจำดีขึ้นกว่าอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง และอีกการศึกษาหนึ่งเป็นการศึกษาทางคลินิกเบื้องต้นในผู้ป่วยอัลไซม์เมอร์หรือผู้ป่วยความจำเสื่อมอย่างอ่อนจำนวน 20 คน โดยให้ดื่มเครื่องดื่ม MCTs เมื่อทดสอบความจำพบว่าผู้ป่วยมีความจำบางอย่างดีขึ้นและพบว่ามีระดับ beta-hydroxybutyrate สูงขึ้นอย่างเฉียบพลันภายใน 90 นาที หลังการศึกษาทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะผู้ป่วยจำนวน 9 คนที่ไม่มี apolipoprotein E เท่านั้น
          ปัจจุบันมีอาหารทางการแพทย์ (Medical food) ที่ชื่อว่า Axona® มีสารสำคัญคือกรดคาไพรลิกซึ่งเป็นกรดไขมันสายปานกลาง มีการศึกษาทางคลินิกโดยใช้ชื่อว่า Ketasyn [AC-1202] โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยอัลไซม์เมอร์อย่างอ่อนและปานกลาง จำนวน 152 คน เป็นเวลา 90 วัน แบบ randomized double-blind ใน phase 2 โดยให้ Axona® วันละ10-20 กรัมหรือยาหลอก ในวันที่ 45 ทางผู้ผลิตรายงานว่าผู้ป่วยที่ได้รับ Axona® สามารถทำแบบทดสอบความจำได้ดีกว่า และในวันที่ 90 และหลังจากหยุดให้ Axona® แล้วคือในวันที่ 104 พบว่าผู้ป่วยที่ไม่มี apolipoprotein E gene และได้รับ Axona® มีความจำดีกว่าผู้ที่ได้รับยาหลอก ทั้งสองครั้ง แต่อย่างไรก็ตามทางผู้ผลิตไม่ได้ทำการศึกษาต่อใน phase 3 ซึ่งต้องทำในผู้ป่วยอัลไซม์เมอร์จำนวนมากขึ้นจึงจะสามารถผ่านการอนุมัติขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้ขึ้นทะเบียนเป็นยาได้ ดังนั้นจึงยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าอาหารทางการแพทย์ Axona® ใช้รักษาโรคอัลไซม์เมอร์ได้
          สำหรับการใช้น้ำมันมะพร้าวในการรักษาโรคอัลไซม์เมอร์นั้น ยังไม่พบว่ามีรายงานการวิจัยหรือบทความตีพิมพ์ที่กล่าวถึงการศึกษาทางคลินิกที่ประเมินได้ว่าสามารถใช้รักษาโรคอัลไซม์เมอร์ จึงน่าจะมีการส่งเสริมให้มีการวิจัยทางคลินิกที่นำน้ำมันมะพร้าวมาใช้ในการรักษาโรคอัลไซม์เมอร์โดยตรงเพื่อจะได้ทราบถึงปริมาณที่เหมาะสมและปลอดภัยรวมถึงผลข้างเคียงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับระบบทางเดินอาหารหรือปริมาณไขมันในเลือด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วยและเป็นแนวทางใหม่ในการรักษาโรคอัลไซม์เมอร์ต่อไป
เอกสารอ้างอิง
  1. Alzheimer’s Association. Alternative treatments. http//www. alz.org/alzheimers_disease_alternative_treatments.asp Accessed August 1, 2012.
  2. Henderson ST, Vogel JL, Barr LJ, Garvin F, Jones JJ, Costantini LC. Study of the ketogenic agent AC-1202 in mild to moderate Alzheimer’s disease: a randomized, double-blind, placebo-controlled, multicenter trial. Nutr Metab(Lond). 2009;6:1.
  3. Krause MV. Mahan LK. Nutritional care in disease of the nervous system and behavioral disorders. In : Krause MV. Mahan LK, eds. Food, nutrition and diet therapy 7th ed. Philadelphia : WB Saunders ; 1984.
  4. Krikorian R, shidler MD, Dangelo K, Couch SC, Benoit Sc, Clegg DJ. Dietary Ketosis enhances memory in mild cognitive impairment. Neurobiol Aging. 2012; 33:425.e19-27
  5. Reger MA, Henderson ST, Hale C, et al. Effects of beta-hydroxybutyrate on cognition in memory-impaired adults. Neurobiol Aging.2004;25:311-314. Abstract
  6. Scott GN. Is coconut oil effective for treating Alzheimer disease?
    http://as.webmd.com/viewarticle/764495?src=emailthis. Accessed July 30, 2012.

บทความวิจัย " จริงหรือไม่? มะหาดทำให้ขาวขึ้นได้" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จริงหรือไม่? มะหาดทำให้ขาวขึ้นได้

มะหาด,melanin,ผิวขาว

ดร.จุฑามาศ เจียรนัยกุลวานิช

ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          หลายคนอาจจะสงสัยว่า มะหาด คืออะไร แต่อีกหลายคนคงเคยได้ยินสรรพคุณของครีมมะหาดในการช่วยทำให้ผิวขาว ซึ่งความจริงแล้วเป็นอย่างไรนั้น สารสกัดนี้ช่วยให้ผิวขาวได้จริงหรือไม่ เรามาติดตามกัน
          ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจกระบวนการสร้างเม็ดสีผิว หรือเมลานิน (melanin) เมลานินแบ่งออกได้เป็นสองชนิด ได้แก่ pheomelanin และ eumelanin ซึ่งกระบวนการสร้างเมลานินนี้ต้องใช้กรดอะมิโน tyrosine เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ โดยมีเอ็นไซม์ tyrosinase ทำการเปลี่ยนกรดอะมิโน tyrosine ให้เป็น dihydroxyphenylalanine (DOPA) และเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็น DOPA aquinone ตามลำดับ ซึ่งสาร DOPA aquinone นี้จะทำปฏิกิริยากับสาร cysteine หรือ glutathione แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสาร cysteinyl-DOPA และเกิดกระบวนการต่อไปอีกได้เป็น 1,4-benzothiazinyl-alanine และ pheomelanin นอกจากนี้ในสภาวะที่ขาด cysteine สาร DOPA aquinone จะเปลี่ยนไปเป็น DOPA achrome ได้ ซึ่งจะถูกเปลี่ยนต่อไปเป็น 5,6-dihydroxyindole-2-carboxylic acid (DHICA) และ eumelanin ตามลำดับ ดังแผนภาพที่ 1
 
          มะหาด มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Artocarpus lakoocha Roxb. เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ Moraceae มีถิ่นกำเนิดจากทวีปเอเชียใต้ มีความสูงประมาณ 20-30 เมตร ในประเทศไทยใช้สารสกัดแก่นมะหาดในการถ่ายพยาธิ ปัจจุบันมะหาดได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นหลังจากมีการค้นพบว่า สารสกัดมะหาดมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอ็นไซม์ tyrosinase ในหลอดทดลอง โดยสารที่ออกฤทธิ์นี้ ในสารสกัด ได้แก่ oxyresveratrol และ resveratrol โดย oxyresveratrol ยับยั้งเอ็นไซม์ tyrosinase ได้มากกว่าสาร resveratrol ถึง 20 เท่า
          จากผลการทดสอบสารสกัดมะหาดในการยับยั้งเอ็นไซม์ tyrosinase ในหลอดทดลอง และประสิทธิภาพในการยับยั้งการสร้างเมลานินในอาสาสมัคร พบว่า ค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ tyrosinase ของสารสกัดมะหาด และ สาร oxyresveratrol มีค่าเท่ากับ 0.76 และ 0.83 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ และผลการยับยั้งการสร้างเมลานินในอาสาสมัคร โดยใช้สารสกัดมะหาดที่ความเข้มข้น 0.25% w/v ในสารละลาย propylene glycol เปรียบเทียบกับสารที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งเมลานิน ได้แก่ สารสกัด licorice ที่ความเข้มข้น 0.25% w/v และ kojic acid ที่ความเข้มข้น 3% w/v ในสารละลายเดียวกัน โดยให้อาสาสมัรทาสารสกัดบริเวณต้นแขนข้างใดข้างหนึ่ง อีกข้างให้ใช้สารละลาย propylene glycol เพื่อเป็นตัวเปรียบเทียบปริมาณเมลานินที่ลดลง จากผลการทดลองพบว่าสารสกัดมะหาดช่วยให้ผิวขาวขึ้นได้เมื่อใช้ทาติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ในขณะที่ kojic acid และ สารสกัด licorice ต้องใช้เวลา 6 และ 10 สัปดาห์ ตามลำดับ จึงจะเห็นความแตกต่างของสีผิว นอกจากนี้ตำรับเครื่องสำอางโลชั่นชนิดไขมันในน้ำ (oil-in-water emulsion) สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของสารสกัดมะหาด (0.10 %w/w) ในการทำให้ผิวขาวได้ดีขึ้น เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์
          ดังนั้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดมะหาดเพื่อให้ผิวขาว นอกจากจะต้องพิจารณาถึงความเข้มข้นของสารสกัดมะหาดในผลิตภัณฑ์แล้ว รูปแบบของผลิตภัณฑ์ ก็มีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของสารสกัดมะหาดเช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
  1. Ebanks J. P., Wickett R. R., Boissy R. E. Mechanisms Regulating Skin Pigmentation: The Rise and Fall of Complexion Coloration. Int. J. Mol. Sci. 2009, 10, 4066-4087.
  2. Tengamnuay, P., Pengrungruangwong, K., Pheansri, I., Likhitwitayawuid, K. Artocarpus lakoocha heartwood extract as a novel cosmetic ingredient: evaluation of the in vitro anti-tyrosinase and in vivo skin whitening activities. Int. J. Cosmet. Sci. 2006, 28, 269–276.
  3. Mongkolsuk, S., Robertson, A., Towers, R. 2,4,3´,5´-tetrahydroxystilbene from Artocarpus lakoocha. J. Chem. Soc. 1957, 2231–2233.
  4. Sritularak, B., De-Eknamkul, W., Likhitwitayawuid, K. Tyrosinase inhibitors from Artocarpus lakoocha. Thai J. Pharm. Sci. 1998, 22, 149–155.

บทความวิจัย " ทานาคาของเมียนม่าร์หรือกระแจะของไทย" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หน้าสวยด้วย “ทานาคาของเมียนม่าร์หรือกระแจะของไทย”

ทานาคา พม่า, แป้งพม่า, หน้าขาว

รศ.พร้อมจิต ศรลัมพ์
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล




          ในบ้านของสาวชาวเมียนม่าร์จะต้องมีท่อนไม้ทานาคา (Thanakha)วางอยู่ทุกครัวเรือน ทานาคาเป็นเครื่องประทินผิวแบบโบราณที่ยังคงมีศักยภาพในสังคมปัจจุบันและได้พัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องสำอางขายทั้งในประเทศเมียนม่าร์และประเทศใกล้เคียง พวกเธอจะฝนเนื้อไม้ที่มีสีขาวนวลจนถึงเหลืองกับน้ำเล็กน้อยบนแผ่นหินกลมที่มีร่องใกล้ขอบให้น้ำส่วนเกินไหลออกมา จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ใช้ทาผิวหนัง ทำให้ผิวเนียนสวยลดความมันบนใบหน้า แต่ไม่ทำให้ผิวหน้าแห้ง ลดรอยเหี่ยวย่น ป้องกันผิวหน้าจากแสงแดด ป้องกัน และรักษาสิว ฝ้าด้วย (1)
          ต้นทานาคามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าHesperethusa crenulata(Roxb.) Roem.และมีชื่อพ้องว่า Naringi crenulata(Roxb.) Nicolson  เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 3 - 8 ม. วงศ์เดียวกับมะนาว คือ Rutaceaeชื่อไทยคือ กระแจะ ที่จังหวัดราชบุรีเรียกว่า พญายา ทางเหนือเรียก ขะแจะ ตะวันออกเฉียงเหนือเรียก ตุมตัง ชาวมอญเรียก ตะนาว(2)พบในเขตร้อนชื้นของเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยและเมียนม่าร์ ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ที่มี ความสูงจากระดับน้ำทะเล100 - 400 ม.มีดอกราวเดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคมผลจะแก่ราวเดือนพฤษภาคม ถึง ตุลาคม(1)ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดปักชำด้วยกิ่งอ่อนหรือรากก็ได้
          ตำรายาไทยใช้กระแจะเป็นยาใบแก้ลมบ้าหมูรากเป็นยาถ่ายผลเป็นยาบำรุงแก่นดองเหล้ากินแก้กษัย (การป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม โลหิตจาง ซูบผอม) โลหิตพิการ ดับพิษร้อนยาพื้นบ้านใช้ต้นต้มน้ำดื่ม ครั้งละครึ่งแก้ววันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น แก้ปวดตามข้อ ปวดเมื่อย เส้นตึง แก้ร้อนในแก้โรคประดง (อาการโรคผิวหนังมีผื่นคัน เป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด คันมากมักมีไข้ร่วมด้วย)(2)
          จากการวิจัยพบว่ามีสารสำคัญชื่อ marmesin เป็นสารกรองแสงอัลตร้าไวโอเลต (3) แสงอัลตร้าไวโอเลตก่อให้เกิดการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังโดยกระตุ้นการสังเคราะห์
เอนไซม์แมทริกซ์-เมทัลโลโปรตีเนส-1(matrix-metalloproteinase-1, MMP-1) ซึ่งจะไปตัดเส้นใยโปรตีนคอลลาเจนที่ช่วยคงความแข็งแรงและยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อผิวหนังและลดการสังเคราะห์โปร-คอลลาเจนพบว่าสารสกัดลำต้นกระแจะสามารถยับยั้งMMP-1และเพิ่มการสร้างโปร-คอลลาเจน จึงพิสูจน์ภูมิปัญญาที่ชาวเมียนมาร์ใช้ได้ดี (5)
          นอกจากนั้นผงกระแจะและสารสกัดน้ำยังแสดงฤทธิ์ต้านการออกซิเดชั่น ลดการเสื่อมของเซลล์ ต้านการอักเสบ และมีสาร suberosin ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย (4) ช่วยป้องกันและรักษาสิวด้วย
          สาวชาวเมียนมาร์ทำงานตากแดดแต่ผิวสวยใส เพราะพบว่าลำต้นกระแจะที่เก็บจากภาคต่าง ๆ และตัวอย่างที่ซื้อจากชายแดนแม่สอด มีสารอาร์บูติน (Arbutin) 1.711 -0.268 มคก./ก. (1)สารชนิดนี้มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานินได้ เมลานินเป็นต้นเหตุของฝ้า กระและรอยหมองคล้ำด่างดำของผิว กระแจะยังมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่กระตุ้นในเกิดเม็ดสีเมลานิน เรียกว่าร่วมด้วยช่วยกันในการออกฤทธิ์ทีเดียว (4)
          ส่วนกลิ่นหอมของกระแจะมาจากสารกลุ่มคูมาลิน(coumarins)4 ชนิด (6) ที่สำคัญคือไม่มีความเป็นพิษต่อหน่วยพันธุกรรม และความเป็นพิษต่อเซลล์ด้วย (4)
          ขณะนี้มีการพัฒนารูปแบบของทานาคาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนยุคนี้มากขึ้น โดยจะเห็นผลิตภัณฑ์ผงบดละเอียดนำมาใช้ได้เลย ไม่ต้องฝนอย่างแต่ก่อน เป็นครีมก็มี อย่างไรก็ตามทุกสิ่งทุกอย่างมีประโยชน์ต่อคนหนึ่ง อาจทำให้อีกคนหนึ่งแพ้ก็ได้ก่อนใช้ควรทดลองใช้กับท้องแขนของเราก่อน ถ้าไม่มีอาการผิดปกติจึงใช้กับใบหน้า จะได้สวยใส ปลอดภัย และสบายใจ

เอกสารอ้างอิง
  1. Kanlayavattanakul M, Phrutivorapongkul A, Lourith N, Ruangrungsi N. Pharmacognostic specification of Naringi crenulata stem wood.J Health Res 2009;23(2):65-9.
  2. พร้อมจิต ศรลัมพ์ และคณะ, บรรณาธิการ. สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด, 2535.
  3. Joo SH, Lee SC,Kim SK.  UV absorbent, marmesin, from the bark of Thanakha,Hesperethusa crenulata L.J Plant Biol2004;47(2):163-5.
  4. Wangthong S, Palaga T, Rengpipat S, Wanichwecharungruang SP, Chanchaisak, P. and Heinrich, M. Biological activities and safety of Thanaka (Hesperethusa crenulata) stem bark. J Ethnopharmacol 2010;132(2):466-72.
  5. Amornnopparattanakul P, Khorana N, Viyoch J. Effects of Hesperethusa crenulata’s bark extract on production of pro-collagen type I and inhibition of MMP-1 in fibroblasts irradiated UVB. International Conference on Biological, Biomedical and Pharmaceutical Sciences (ICCEPS' 2012), Pattaya, 28-29 July, 2012.
  6. Nayar MNS, Bhan MK.  Coumarins and other constituents of Hesperethusa crenulata.Phytochemistry1972;11(11):3331-3.

บทความวิจัย "บวบขม" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

บวบขม

บวบขม

รองศาสตราจารย์ ดร.วีณา จิรัจฉริยากูล
ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 
          บวบขม เป็นพืชวงศ์ Curcubitaceae ชื่อวิทยาศาสตร์ Trichosanthes cucumerina L. บวบขมเป็นไม้เถาพาดพันต้นไม้อื่น ขึ้นเองตามริมน้ำ ลำต้นเป็นร่องมีขนและมือเกาะ ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปกลม ขอบใบหยักเป็นซี่ฟันและมีรอยเว้าลึก 5 แฉก แผ่นใบกว้าง 8-12 ซม. เส้นใบเป็นร่องลึกเห็นชัด ดอกเพศผู้ สีเหลือง มีก้านชูดอกยาว 6-16 ซม. ดอกออกเป็นกระจุกชิดกัน ก้านชูดอกย่อยสั้น ดอกเพศเมีย ออกเป็นดอกเดี่ยวสีเหลืองตามซอกใบ ฐานรองดอกอวบสีเขียวเข้ม ผลรูปกลมรี หัวท้ายแหลม กว้าง 4-6 ซม. ยาว 8-12 ซม. ผิวสีเขียวขรุขระเล็กน้อย จุดประสีขาวทั่วผล ลายสีเขียวเข้มตามความยาวของผล เมล็ดอ่อนสีขาวจำนวนมากอัดแน่นเป็นแถว เมื่อแก่สีดำรูปหยดน้ำ แบน กว้าง 0.4-0.5 ซม. ยาว 0.8 ซม.
          บวบขมเป็นพืชในเขตเอเซียเขตร้อน สรรพคุณพื้นบ้าน ผลหรือเถาเข้าตำรับยาหอมแก้ลม บำรุงหัวใจ ยาไทยใช้ผลสดฟอกศีรษะ แก้คัน รังแคและฆ่าเหา เถาและราก ต้มน้ำเป็นยาลดไข้ ระบาย แก้อักเสบต่างๆ ฟอกเลือด ขับระดู และใช้ในท่อน้ำดีอักเสบ
          ผลบวบขมมีรสขม เพราะมีสารชื่อ คิวเคอร์บิตาซินปริมาณมาก คิวเคอร์บิตาซินเป็นสารขมที่เป็นลักษณะเฉพาะของพืชวงศ์คิวเคอร์บิตาซี เป็นสารกลุ่มไทรเทอร์ปีนที่มีออกซิเจนจำนวนมาก คิวเคอร์บิตาซินหลักในบวบขมเป็นคิวเคอร์บิตาซิน บี คิวเคอร์บิตาซิน บี แสดงฤทธิ์แรงในการยับยั้งเซลล์มะเร็งช่องคอและจมูก (KB cell) เซลล์มะเร็งเต้านมชนิด ER positive และ ER negative
          การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรในรูปน้ำคั้น จัดเป็นการใช้แบบแผนโบราณ การเตรียมน้ำคั้นจากผลบวบขม สามารถเตรียมได้โดยคั้นน้ำจากผลสด 10-11 ก. ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ต่อวัน จะได้น้ำคั้นประมาณ 1 มล. ซึ่งจะมีคิวเคอร์บิตาซิน บี 0.12 มก. ให้ดื่มน้ำคั้นหลังอาหารเช้าหรือเย็น การเตรียมน้ำคั้นสามารถเตรียมให้พอใช้ได้ 2-3 วัน โดยเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น

บทความวิจัย "การใช้สมุนไพร อายุรเวท รักษามะเร็ง" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การใช้สมุนไพร อายุรเวท รักษามะเร็ง

สมุนไพรรักษามะเร็ง,มะเร็ง,ฟ้าทะลายโจร ,มะตูม,บัวบก,ขมิ้น,บอระเพ็ด,หญ้างวงช้างดอกขาว,ว่านหางจรเข้ ,ทุเรียนเทศ,ดีปลี

รองศาสตราจารย์ ดร.อ้อมบุญ วัลลิสุต
ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          การรักษาผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งตามทฤษฎีการแพทย์แผนตะวันตก มี ๒ วิธีหลักที่ปฏิบัติกันแพร่หลายคือการใช้รังสี และการใช้เคมีบำบัด ซึ่งทั้งสองวิธี ต่างก็ใช้หลักการเดียวกันคือทำลายเนื้อร้าย แต่ทั้งนี้ไม่สามารถเลือกทำลายเฉพาะเนื้อร้ายได้ เซลล์ดีจำนวนมากต้องถูกทำลายไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซลล์ที่มีการแบ่งตัวเร็วเช่น เซลล์ผม เซลล์ผิวหนัง เซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร และเซลล์เม็ดเลือดในไขกระดูก จึงเกิดผลข้างเคียงตามมาเช่น ผมร่วง แผลในปาก ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เกล็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกง่าย อีกทั้งผู้ป่วยยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีก จากการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง โดยเหตุนี้จึงมีผู้ป่วยตายด้วยโรคมะเร็งปีละ ๕๐,๐๐๐ คน นับเป็นการสูญเสียทรัพยากรเนื่องจากเคมีบำบัดล้วนเป็นยานำเข้าทั้งสิ้น ยังไม่นับถึงค่าใช้จ่ายในส่วนบุคลากรที่ต้องใช้เวลาในการอภิบาลผู้ป่วยเหล่านี้เป็นเวลานาน แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตบุคคลเหล่านั้นได้
          มะเร็งนับเป็นโรคที่ร้ายแรงและคร่าชีวิตผู้คนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องมาจนถึงศตวรรษที่ 21 นับเป็นสาเหตุสำคัญในการเสียชีวิตในอเมริกา (ร้อยละ 25) ปัจจุบันมีผู้แสวงหาแนวทางอื่นในการรักษามากขึ้น เช่นจากการแพทย์อายุรเวทของอินเดียที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล ในตำราอายุรเวทได้มีการกล่าวถึงมะเร็งว่าเป็นเนื้องอกที่เกิดจากการอักเสบหรือไม่อักเสบก็ได้ อาจเกิดจากความไม่สมดุลย์ของระบบ วาตะ (ระบบประสาท) ปิตตะ (ระบบโลหิตดำ) หรือเสมหะ (ระบบโลหิตแดง) หนึ่งหรือ สองระบบ เป็น benign neoplasm แต่ถ้าเกิดจากความผิดปกติของทั้งสามระบบจะกลายเป็น malignant tumour หรือเนื้อร้ายนั่นเอง
          สาเหตุของการเกิดมะเร็งนั้นตำราอายุรเวทได้กล่าวถึงการบาดเจ็บของผิวชั้นที่หกที่เรียกว่า โรหิณี (epithelium) ของกล้ามเนื้อและหลอดเลือด ซึ่งเกิดจากการใช้ชีวิตที่ผิดพลาด การกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ สุขอนามัยที่ไม่ดี และ พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องอันก่อให้เกิดความไม่สมดุลย์ของระบบในร่างกาย (dosha) นำไปสู่การเกิดเนื้องอก ในแต่ละคนเกิดมะเร็งแตกต่างกันไปแล้วแต่ปัจจัยเสี่ยงและพันธุกรรมซี่งทำให้แต่ละคนมีการตอบสนองต่ออาหารชนิดเดียวกันได้ต่างกัน (ขึ้นอยู่กับ dosha ของแต่ละคน) ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสื่อมของระบบในร่างกายได้แก่
  1. สิ่งกระตุ้นระบบวาตะ การกินรสขม รสเผ็ด หรือรสฝาดมากเกินไป อาหารแห้ง หรืออยู่ในสภาวะเครียดมากไป
  2. สิ่งกระตุ้นระบบปิตตะ การกินรสเปรี้ยว รสเค็มมากเกินไป อาหารทอด หรืออยู่ในสภาวะโกรธมากไป
  3. สิ่งกระตุ้นระบบเสมหะ การกินรสหวานมากเกินไป อาหารมัน หรือชอบอยู่นิ่งๆเกินไป
  4. สิ่งกระตุ้นระบบเลือด (rakta) กินอาหารที่เป็นกรดหรือเป็นด่างมากเกินไป อาหารทอดหรือย่าง เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ อารมณ์โกรธหรือโศกเศร้ามากไป การตากแดดจัดหรือทำงานภายใต้ความร้อนนานไป
  5. สิ่งกระตุ้นระบบกล้ามเนื้อ (mamsa) การกินอาหารจำพวกเนื้อ ปลา โยเกิต นมและครีมมากไป การนอนกลางวัน และการกินมากเกินไป
  6. สิ่งกระตุ้นระบบไขมัน (medo) การกินอาหารประเภทน้ำมัน อาหารหวาน แอลกอฮอลล์และความขี้เกียจ

          หลักของการรักษามี 4 อย่างคือ บำรุงสุขภาพ (health maintenance) รักษาโรค (disease cure) การคืนสู่สภาพปกติ (Rasayana /restoration of normal function) จิตวิญญาณ (spiritual approach) หลักที่สำคัญคือต้องหาสาเหตุของการเจ็บป่วยที่ทำให้เกิดการขาดความสมดุลย์และแก้ไขส่วนขาดและลดส่วนเกิน โดยทั่วไปจะเป็นส่วนประกอบของสมุนไพรหลายๆ ชนิด ซึ่งจะเข้าไปช่วยระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายพร้อมๆ กันและบำรุงร่างกายไปด้วย สมุนไพรสามารถออกฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้ 1) ระงับการสร้างเส้นเลือดใหม่ (antiangiogenesis) 2) ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง (antiproliferative) 3) ระงับการอักเสบ 4) ซ่อมแซม DNA 5) ต้านการอ็อกซิไดส์ กำจัดอนุมูลอิสระ 6) ยับยั้งจุลชีพ เป็นต้น สมุนไพรต่อไปนี้ล้วนมีผลการทดสอบที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษามะเร็ง
ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata) ในอินเดียใช้กันมานานรักษาไทฟอยด์ แก้อักเสบ แก้มาเลเรีย กระตุ้นภูมิคุ้มกัน สารสำคัญคือ andrographolide สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด
มะตูม (Aegle marmelos) สารจากผลมะตูมสามารถยับยั้ง thyroid cancer และมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส และต้านการอักเสบ
บัวบก (Centella asiatica) มีสาร asiaticoside ที่ช่วยให้แผลเรื้อรังหายได้เร็วขึ้น เพิ่มภูมิคุ้มกัน และในบราซิลมีการใช้เพื่อรักษามะเร็งมดลูก
ขมิ้น (Curcuma longa) สารสำคัญคือ curcumin มีฤทธิ์ต้านการอ็อกซิไดส์และต้านการอักเสบที่แรง สามารถทำให้เกิดการตายของเซลมะเร็งหลายชนิดเช่น ผิวหนัง ลำไส้ใหญ่ กระเพาะ ลำไส้เล็ก รังไข่ และยังมีฤทธิ์ต้านไวรัส แบคทีเรียและราอีกด้วย
หญ้างวงช้างดอกขาว (Heliotropium indicum) อายุรเวทใช้ใบในการรักษาไข้ ลมพิษ แผล การอักเสบเฉพาะที่ กลาก ปวดข้อ (rheumatism) มีอัลคาลอยด์ Indicine-N-oxide ที่มีฤทธิยับยั้งเนื้องอก มีการทดลองทางคลีนิคในลิวคีเมีย และ solid tumour
ว่านหางจรเข้ (Aloe vera) มีสาร aloe-emodin ที่กระตุ้น macrophage ให้กำจัดเซล์ลมะเร็ง และยังมี acemannan ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ว่านหางจรเข้ช่วยกระตุ้นการเจริญของเซลล์ปกติและยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง
Rubia cordifolia พืชตระกูลเดียวกับกาแฟมีมากในอินเดียตอนใต้ สารสกัดจากพืชนี้มีฤทธิ์ต้านการอ็อกซิไดส์และกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และต้านมะเร็งหลายชนิดเช่น leukemia, ascetic carcinoma, melanoma, lung and large intestinal tumour เป็นต้น
Whitania somnifera หรือ Indian ginseng เป็น adaptogen ที่ช่วยทำให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ โดยผ่าน Hypothalamic Pituitary Adrenal (HPA) axis มีสารสำคัญคือ whithanolide ซึ่งมีฤทธิ์เสริมภูมิต้านทาน และสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งผิวหนัง
กะเพรา (Ocimum sanctum) เป็นสมุนไพรที่ใช้ในการแพทย์โบราณหลายระบบ เช่นอายุรเวท สิธธา ยูนานนิ กรีก โรมันเป็นต้น ใช้ในระบบทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ หัวใจ ผิวหนัง ฯลฯ
ทุเรียนเทศ (Anona muricata) สาร acetogenin จากผลทำให้เซลล์มะเร็งตายได้
ลูกใต้ใบ/หญ้าใต้ใบ (Phyllanthus niruri/amarus) เป็นที่รู้จักว่าเป็น stonebreaker และมีการใช้แพร่หลายทั่วโลก ในระบบปัสสาวะและน้ำดี ตับอักเสบ หวัด วัณโรค และโรคจากไวรัสอื่นๆ
ดีปลี (Piper longum) มี piperine ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอ็อกซิไดส์ทั้ง in vitro และ in vivo จึงเป็นส่วนประกอบของตำรับยารักษามะเร็งของอายุรเวท
Podophyllum hexandrum เป็นพืชบนเทือกเขาหิมาลัย มีสาร podophyllin และ podophyllotoxin ซึ่งยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งหลายชนิด เช่น sarcomas,adenocarcinoma และ melanoma มีการเตรียมอนุพันธ์และใช้เป็นยารักษามะเร็งตับคือ etoposide
บอระเพ็ด (Tinospora cordifolia) สารสำคัญจากบอระเพ็ดกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยการเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาว และสามารถลดขนาดเนื้องอกได้ 58.8% เทียบเท่า cyclophosphamide
รักขน (Semecarpus anacardium) ผลของรักขนมีการใช้ในอายุรเวทเพื่อรักษามะเร็ง มีงานวิจัยแสดงว่าสารสกัดคลอโรฟอร์มมีฤทธิ์ต้านมะเร็งและยืดอายุในกรณี leukemia, melanoma และ glioma ในสัตว์ทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งตับสารสกัดจากรักขนทำให้เนื้อเยื่อตับเป็นปกติ ยาเตรียม anacartin forte นิยมใช้รักษามะเร็งหลอดอาหาร chronic myeloid leukemia, urinary bladder และมะเร็งตับ
          ยังมีสมุนไพรอีกมากที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งโดยตรงหรือช่วยระงับอาการข้างเคียงต่างๆ ของผู้ป่วยมะเร็งซึ่งรอผลการสนับสนุนจากงานวิจัยทางวิทยาศาสต