“มะกรูด” มีชื่อพื้นเมืองเรียกกันหลายชื่อทางภาคเหนือ เรียกว่า มะขูด มะขุน ภาคใต้เรียกว่า ส้มกรูด ส้มมั่วผี ภาคอีสาน เรียกว่า มะหูด โดยเฉพาะที่จังหวัดหนองคาย
มะกรูด เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้าน ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็ง ประกอบไปด้วยใบ เป็นใบประกอบที่มีใบย่อยใบเดี่ยว สีเขียวหนามีลักษณะคอดกิ่วกิ่งกลางใบเป็น ตอน ๆ มีกลิ่นหอมมาก เพราะมีต่อมน้ำมันอยู่ ดอก ออกดอกเป็นกระจุก 3-5 ดอก กลีบดอกสีขาว ร่วงง่าย ผล มีหลายแบบแล้วแต่พันธุ์ บางพันธุ์มีผลใหญ่และขรุขระมาก มีจุกที่หัว บางพันธุ์ผลเล็กเท่ามะนาว ผิวขรุขระน้อยกว่า และไม่มีจุกที่หัว
ประโยชน์ทางยาของมะกรูด ส่วนที่นำมาทำเป็นยา คือ ผิวมะกรูด ผล ราก น้ำมะกรูดและใบ ซึ่งนับว่านำมาใช้เป็นส่วนประกอบทางยาสมุนไพรได้หลายชนิด รสและสรรพคุณของมะกรูดในตำรายาไทย ผิวผลสดและผลแห้งมีรสปร่า หอมร้อน สรรพคุณแก้ลมหน้ามืด แก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ ขับลมในลำไส้ ขับระดู ขับผายลม
ผลมีรสเปรี้ยว มีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว ฟอกโลหิต ใช้สระผม จะทำให้ผมดกดำ เงางาม ไม่มีรังแคและไม่คันศีรษะ นอกจากนี้ ยังใช้เป็นยาขับลม แก้ปวดท้องในเด็ก
ราก รากของมะกรูดจะมีรสเย็นจืด แก้พิษฝีภายใน แก้เสมหะเป็นโทษ ปรุงผสมกับยาตัวอื่น เป็นยาแก้ลมจุกเสียด ถอนพิษผิดสำแดง
ขนาดและวิธีใช้
- แก้เป็นลม ลมหน้ามืด ใช้ผิวผลสดสูดดม ขณะเป็นลม ผิวผลแห้งใช้หั่นใส่ในน้ำหอมผสมกับของหอมอื่น ๆ ดมแก้อาการเป็นลมหน้ามืด
- แก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ ใช้ผิวผลสดหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ 1-2 หยิบมือ ผสมกับการบูรหนึ่งหยิบมือ ชงด้วยน้ำเดือด คนให้ละลาย ปิดฝาทิ้งไว้ 3-5 นาที ดื่มเอาแต่น้ำ
- เป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ ใช้ผลมะกรูดผ่าซีกเติมเกลือป่นเล็กน้อย ลนไฟให้เปลือกผลนิ่มค่อย ๆ บีบน้ำมะกรูดลงในคอทีละน้อย ๆ จะช่วยให้คอโล่ง เสมหะจะละลายออกมาและระงับอาการไอ
- เป็นยาขับผายลม แก้ปวดท้องในเด็กอ่อน ใช้มะกรูด 1 ผล ตัดจุกคว้านเอาไส้กลางออก เอามหาหิงส์ใส่กลางผล แล้วปิดจุก สุมไฟให้เกรียมกรอบ บดให้เป็นผงละลายกับน้ำผึ้งป้ายลิ้นเด็กอ่อนตั้งแต่แรกคลอด
- เป็นยาสระผมหรืออาบโดยใส่มะกรูดผ่าซีกลงในหม้อร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ ต้ม อาบ อบจะได้ทั้งน้ำมันหอยระเหยที่อยู่บนผิว และรสเปรี้ยวจากมะกรูดจะช่วยให้อาบสะอาดยิ่งขึ้น และถ้าใช้มะกรูดผ่าซีกสระผม จะทำให้ผมลื่นดกดำ ไม่มีรังแค
- ใช้เป็นยาฟอกโลหิตสำหรับสตรี (ในตำรายาพื้นบ้าน) ใช้น้ำมะกรูดดองยาและเรียกยานั้นว่า “ยาดองเปรี้ยวเค็ม” ใช้รับประทานน้ำมะกรูดป้องกันมิให้ยาดองขึ้นราได้ และทำปฏิกิริยากับสมุนไพร เช่น เปลือกหอยละลายเกลือหินออกมาจะได้ยาที่ดูดซึมในร่างกายได้ดี
- แก้ไข้หวัด ปวดศีรษะ ใช้ใบมะกรูดและใบมะนาวต้มน้ำรับประทาน
ข้อควรระวัง เนื่องจากน้ำมะกรูดมีฤทธิ์เป็นกรด อาจทำลายเคลือบฟันได้ ดังนั้นเมื่อจิบน้ำมะกรูด ควรพยายามให้ถูกฟันน้อยที่สุด และหลังจากจิบไป 2-3 ครั้งควรบ้วนปากล้างกรดออกไป
หากใช้เป็นยาสระผม ควรทำผมให้เปียกชุ่มทั้งศีรษะก่อนใช้มะกรูดสระผม เพื่อให้น้ำบนศีรษะช่วยลดความเป็นกรดของมะกรูดลง
เมื่อนำใบมะกรูดมากลั่นด้วยไอน้ำ จะให้น้ำมันหอมระเหยในปริมาณ 1.29 % ส่วนน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากผิวมะกรูดจะมีปริมาณ 6-7 % และน้ำในมะกรูดจะมีกรดซิตริก วิตามินซีและกรดอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ เป็นส่วนประกอบ
ประโยชน์ทางอาหาร ส่วนที่นำมาใช้ คือ ผิวมะกรูด ใบมะกรูดและผลมะกรูดใช้เป็นเครื่องปรุงพริกแกง เครื่องเทศ นิยมใช้ผิวจากผลมะกรูดมาเป็นเครื่องเทศ เป็นส่วนผสมของพริกแกง ใบมะกรูดที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป นิยมหั่นเป็นฝอยใส่ในยำ พร่า ก้อย ใบแก่ใส่แกงเผ็ด ต้มยำ ต้มโคล้ง ผลผ่าซีกใส่ในแกงเทโพ และขนมจีนน้ำพริก น้ำจากผลจะมีรสเปรี้ยวใช้แต่งรสปลาเจ่า ปลาร้า นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องหอม เช่น ในเทียนอบ
คุณค่าทางโภชนาการของผิวมะกรูดและใบมะกรูด จะให้พลังงานต่อร่างกาย
ประกอบด้วยน้ำ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินบี 1,2 ไนอาซีนและวิตามินซี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น