วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

มะเขือมอญ

มะเขือมอญ



ชื่อวิทยาศาสตร์ Abelmoschus esculentus (L.) Moench
ชื่อสามัญ Ladies' Finger, Lady's Finger, Okra
วงศ์  Malvaceae
ชื่ออื่น :  กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบมอญ มะเขือทวาย มะเขือมอญ (ภาคกลาง), มะเขือพม่า มะเขือมื่น มะเขือละโว้ (ภาคเหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูง ๐.๕ - ๒ ม. มีขนทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงสลับรูปไข่หรือค่อนข้างกลม กว้าง ๑๐ - ๒๐ ซม. ปลายหยักแหลม โคนเว้ารูปหัวใจ เส้นใบออกจากโคนใบ ๓  เส้น ดอกใหญ่ ออกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ มีริ้วประดับ (epicalyx) เป็นเส้นสีเขียว ๘ - ๑๐ เส้น เรียงเป็นวงรอบโคนกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยง ๕  กลีบ กลีบดอก ๕ กลีบ สีเหลือง โคนกลีบสีม่วงแดง รูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลม เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นหลอดยาว ๒ - ๓ ซม. หุ้มเกสรเพศเมียไว้ อับเรณูเล็กจำนวนมากติดรอบหลอด ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแผ่นกลมขนาดเล็ก สีม่วงแดง ยื่นพ้นปากหลอดดอก ผลเป็นฝักห้าเหลี่ยม ปลายเรียวแหลม มีขนทั่วไป มีเมล็ดมาก เมล็ดรูปไต ขนาด ๓ - ๖ มม.
ส่วนที่ใช้ผลอ่อน
สรรพคุณ : ใช้เป็นยาแก้จี๊ด รักษาโรคกระเพาะ
  • ยาแก้จี๊ดใช้ผลอ่อน ไม่จำกัดจำนวน นำไปต้มหรือปิ้งไฟ ใช้ทำเป็นผักจิ้มหรือแกงส้ม รับประทานสดๆ จะได้ผลดีกว่า
  • รักษาโรคกระเพาะ
    ใช้ผลมะเขือมอญ ตากแห้ง บดให้ละเอียด รับประทานครั้งบะ ๑ ช้อนโต๊ะ วันละ ๓ - ๔ เวลา หลังอาหารแล้วดื่มน้ำตาม

บวบขม

บวบขม



ชื่อวิทยาศาสตร์ Trichosanthes cucumerina  L.
ชื่อสามัญ  
วงศ์  Cucurbitaceae
ชื่ออื่น : นมพิจิตร มะนอยจ๋า (ภาคเหนือ) กะตอรอ (ปัตตานี)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เถา ลำต้นเป็นร่อง มือเกาะมี ๒ - ๓ แขนง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปกลม หรือคล้ายรูปไต โคนใบเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ ขอบใบหยักเป็นซี่และเว้าลึกเป็น ๕ แฉก ปลายใบแหลมหรือกลม มีขนทั้งสองด้าน ก้านใบเล็ก ดอกมีการแยกเพศอยู่ต่างต้น ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อก้านชูดอกเล็กคล้ายเส้นด้าย มีขนเล็กน้อย กลีบรองกลีบดอกกลีบเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ กลีบ กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่แกมสามเหลี่ยมมีเส้น ๓ เส้นกลีบอยู่ชิดกัน เกสรตัวผู้ ๓ อัน รูปทรงกระบอก ดอกเพศเมีย ออกดอกเดี่ยว กลีบรองกลีบดอกและกลีบดอก มีลักษณะเหมือนกันกับดอกเพศผู้ รังไข่รูปยาวรี ท่อรังไข่เล็กเหมือนเส้นด้าย ผลรูปกลมยาว หัวท้ายแหลม สีเขียวมีลายสีขาวตามยาวของผล มีขนสีแดง เมล็ดมี ๘ - ๑๐ เมล็ด รูปขอบขนาน ขอบเป็นคลื่น

ส่วนที่ใช้
รังบวบขม
สรรพคุณ : แพทย์ตามชนบทใช้รังบวบขมฟอกศรีษะแก้รังแค แก้เหาดี

ยาสูบ

ยาสูบ



ชื่อวิทยาศาสตร์ Nicotiana tabacum  L.
ชื่อสามัญ  Tobacco
วงศ์ Solanaceae
ชื่ออื่น :  จะวั้ว (เขมร สุรินทร์)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูง ๐.๖ - ๒ เมตร ตามลำต้นและยอดมีขนอ่อนปกคลุม ทุกส่วนของต้นมีต่อมน้ำยางเหนียว ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง ๑๐ ๒๐  เซนติเมตร ยาว ๓๐ - ๖๐ เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบเรียวสอบ ท้องใบและหลังใบมีขนปกคลุม ขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย ดอก เป็นดอกช่อออกที่ปลายยอด มีกลีบดอก สีชมพูปนขาว ๕ กลีบ ส่วนโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายกลีบแหลม มีขนขาวปกคลุม กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ผล เป็นผลแห้ง รูปขอบขนาน ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีน้ำตาล แตกออกได้ ด้านในมีเมล็ดสีน้ำตาลจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้ :
ใบแก่ๆ
สรรพคุณ : รักษาเหา หิด เป็นยาถอนพิษ รักษาแผลน้ำร้อนลวก รักษาโรคผิวหนัง แก้หวัด คัดจมูก ฉีดพ่นฆ่าแมลงและเพลี้ยต่างๆ ได้ผลดี
วิธีและปริมาณที่ใช้
  • รักษาเหา - ใช้ยาฉุนหรือยาตั้ง (ใบยาสูบแก่ตากแห้ง) 1 หยิบมือ ผสมกับน้ำมันก๊าดประมาณ ๓ - ๔ ช้อนแกง ชะโลมทั้งน้ำและยาเส้นลงบนผมทิ้งไว้ ๑ ชั่วโมง แล้วสระให้สะอาด ทำติดต่อกัน ๓ - ๔ วัน
  • เป็นยาถอนพิษ รักษาแผลน้ำร้อนลวก - ใช้ยาเส้นหรือยาตั้ง ๑ หยิบมือ คลุกกับน้ำมันมะพร้าวปิดบริเวณที่ถูกน้ำร้อนลวก จะช่วยถอนพิษ
  • แก้หวัดคัดจมูก - ใช้ใบยาอย่างฉุนจัดๆ ผสมกับปูนแดงและใบเนียม กวนเป็นยานัตถุ์
  • แก้หิดและโรคผิวหนัง - ใช้ยางสีดำๆ ในกล้องสูบยาของจีนใส่แต้มแผล แก้หิดได้ดีมาก ใช้เคี่ยวกับน้ำมันทารักษาโรคผิวหนังต่างๆ ได้ด้วย
  • คุณประโยชน์ทางยา ใช้น้อย
         การสูบบุหรี่โดยการเผาใบยานี้ ทำให้นิโคตินและอัลคาลอยด์อื่นๆ สลายตัว วัตถุเหล่านี้ทำให้เกิดเป็นพิษขึ้นในการสูบบุหรี่ มีหลายคนแสดงว่าการสูบบุหรี่ มีอำนาจกล่อมประสาท (Soothing) แต่ไม่ใช่เนื่องจากอำนาจของนิโคติน     การสูบบุหรี่มากทำให้เจ็บคอและไอ เนื่องจากลำคอและหลอดลม อักเสบบวม ถ้าอาการแรงหน่อยจะทำให้หัวใจอ่อนและเต้นไม่สม่ำเสมอ และผ่อนสภาพประสาทส่วนกลาง ความจำไม่ดี  มือสั่น หายใจอ่อน ความดันโลหิตลดลงต่ำ เหงื่อออกมาก     แต่ถ้าเป็นคนสูบประจำ ก็จะไม่มีอาการเหล่านี้ เพราะร่างกายสามารถอ๊อกซิไดซ์นิโคตินได้พอควร คนที่สูบซิกาแรตวันละ ๒๕ มวน จะต้องเสียสีของเม็ดโลหิตแดงไปประมาณ ๒๕ % ในคราวหนึ่ง     นิโคตินเป็นแอลคาลอยด์ชนิดน้ำ มีอยู่ในใบของยาสูบประมาณ ๗ % ละลายง่ายในน้ำ แอลกอฮอล์ และอีเธอร์ ใช้มากในทางเกษตรกรรม ปรุงเป็นยาฉีดแมลงและเพลี้ยต่างๆ ได้ผลดี การผสม ใช้นิโคติน ๑ ส่วน สบู่อ่อน ๒๐ ส่วน ในน้ำ ๒,๐๐๐ ส่วน ยานี้มีพิษแรง ใช้ระวังถูกผิวหนังจะซึมเข้าไป เป็นพิษมาก