วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แก่นตะวัน




"แก่นตะวัน"พืชเศรษฐกิจทางเลือก สุดยอดสมุนไพร-ตลาดต้องการสูง


          หลังจาก ประภาส ช่างเหล็ก นักวิจัยชำนาญการ หัวหน้าสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทดลองปลูก "แก่นตะวัน" หรือ "แห้วบัวตอง" บนพื้นที่สูงในแปลงทดลองของสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ ในพื้นที่ 6 ไร่ ตั้งแต่ปี 2551 พบว่า ปลูกง่าย ให้ผลผลิตที่คุ้มต่อการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นทางเลือกใหม่ เนื่องจากเป็นพืชอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และสรรพคุณทางสมุนไพรหลายอย่าง ขณะที่ตลาดในปัจจุบันมีความต้องการสูง 

          "แก่นตะวัน" เดิมทีเรียกว่า "แห้วบัวตอง" เป็นพืชล้มลุกในตระกูลเดียวกันกับทานตะวัน แต่มีหัวคล้ายกับขิงหรือข่า ลำต้นสูงราว 1-1.50 เมตร มีดอกมีสีเหลืองสดคล้ายบัวตอง ภาษาอังกฤษเรียกว่า เยรูซาเล็ม อาร์ติโชค (Jerusalem artichoke) มีถิ่นกำเนิดแถบหนาวของทวีปอเมริกาเหนือ แต่สามารถปรับตัวได้ดีในเขตร้อน ที่สำคัญมีความแข็งแกร่งทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ จึงมีการนำไปปลูกในทวีปยุโรป และในเขตกึ่งหนาวรวมถึงเขตร้อนอย่างในประเทศอินเดีย

          ส่วนในประเทศไทย มีการนำมาปลูกในปี 2539 ต่อมา รศ.ดร.สนั่น จอกลอย อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำสายพันธุ์แก่นตะวันเข้ามาปลูกในแปลงทดลองวิจัยของคณะเกษตรศาสตร์ จำนวน 24 สายพันธุ์ พร้อมทำการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ให้บริสุทธิ์ จึงพบว่า สายพันธุ์เคเคยู เอซี  008 (KKU Ac 008) ให้ผลผลิตหัวสดไร่ละ 2-3 ตัน จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น แก่นตะวัน

          ประภาส บอกว่า จากข้อมูลการศึกษาวิจัยถึงสรรพคุณของแก่นตะวัน พบว่า ส่วนหัว เหมาะที่จะรับประทานหัวสด รสชาติหวาน เป็นแหล่งสะสมของอินนูลิน (inulin) ที่เต็มไปด้วยน้ำตาลฟรุกโตสที่ต่อกันเป็นโมเลกุลยาว มีคุณสมบัติช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวาน ลดไขมันในเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ และสร้างภูมิคุ้มกันโรค แต่ให้แคลอรีต่ำ ไม่เพิ่มน้ำตาลในเลือด จึงลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น

          "ผมเห็นว่าพืชตัวนี้มีอนาคต สามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรได้ เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นพืชอาหารแล้วยังเป็นพืชพลังงานด้วย คือ หัวสด 1 ตันสามารถผลิตเอทานอลที่บริสุทธิ์ 99.5% ได้ 100 ลิตร นำไปผสมน้ำมันเบนซิน ผลิตแก๊สโซฮอล์ได้" ประภาส กล่าว

          หัวหน้าสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ บอกอีกว่า เนื่องจากแก่นตะวันชอบสภาพภูมิอากาศหนาว จึงนำไปทดลองปลูกในแปลงทดลองของสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ ในพื้นที่ 6 ไร่ เมื่อปี 2551 และนำไปปลูกที่ไร่สุวรรณ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ในพื้นที่ 3 งาน ที่จ.กาญจนบุรี 2 ไร่ พบว่าที่จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 800 เมตร ให้ผลผลิตหัวสดไร่ละ 8-10 ตัน ในส่วนของพื้นที่ล่างได้ 5-6 เมตร

 
          การปลูกแก่นตะวันนั้น ประภาสบอกว่า ปลูกง่าย พรวนดินให้ร่วน ขุดหลุมลึก 2 ซม. ห่างกัน 50x50 ซม. เอาหัวชำถุงปลูกลงหลุมใช้เวลาเพียง 4 เดือน สามารถขุดผลผลิตนำมาบริโภค หรือนำไปจำหน่ายได้แล้ว และน่าจะเป็นทางเลือกของเกษตรกรด้วย